เอายางพารามาทำถนนได้ไหม??



จากการวิจัย และทดลองใช้น้ำยางพาราผสมยางมะตอยในการสร้างถนนที่บริเวณหน้าศูนย์วิจัย
ฉะเชิงเทรา ซึ่งเวลาผ่านมาถึง 13 ปีแล้ว  สภาพถนนก็ยังแข็งแรง และมีประสิทธิภาพ ถนนยางพาราที่มีความยาว 300 เมตร บนเส้นทางสัญจรสาย 3259 ฉะเชิงเทรา-วังน้ำเย็น  บริเวณด้านหน้าศูนย์วิจัยยาง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ทางศูนย์วิจัยร่วมกับกรมทางหลวงในการทดลองนำยางพารามาผสมกับยางมะตอยเพื่อราดถนนตั้งแต่ปี 2545 จนถึงถึงปัจจุบัน ซึ่งพื้นถนนที่ใช้ยางพาราในการทำการทดสอบนั้น ยังไม่เคยชำรุดเสียหายหรือแตกร้าว มาตลอดระยะเวลากว่า 13 ปีที่ผ่านมา ผิดไปจากพื้นถนนตรงจุดที่ไม่ได้ทำการผสมยางพาราที่ได้มีการซ่อมแซมผ่านไปแล้วถึง 2 ครั้ง  โดย นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรบอกว่า จากผลการวิจัยพบว่ายางพาราได้ทำปฏิกริยากับยางมะตอยทำให้พื้นถนนมีประสิทธิภาพในการยืดหยุ่น คืนตัว และแข็งแรงมากขึ้น



ซึ่งการทำถนนยางพารานั้น ภายในศูนย์วิจัยยาง  ฉะเชิงเทราได้มีเครื่องผสมยางมะตอยกับยางพาราชนิดยางข้น และชนิยางแห้ง โดยเครื่องผสมยางชนิดแห้งนั้น จะใช้ยางแผ่นรมควันผสมกับยางมะตอยในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 เพื่อทำเป็นหัวเชื้อหรือมาสเตอร์แบต ก่อนที่จะนำมาผสมกับยางมะตอยในเครื่อง ซึ่งจะผสมได้ครั้งละ 5 ตัน โดยคิดอัตราส่วนของยางพาราทั้งหมด 5 เปอร์เซ็นต่อการผสมหนึ่งครั้ง ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2542 จนได้อัตราน้ำยางและยางมะตอยที่พอเหมาะ เนื่องจากหากผสมน้ำยางมากไปจะทำให้มีข้อจำกัด คือ ยางที่ผสมได้จะมีความหนืดสูง ยากแก่การอัดฉีดนั่นเอง





อย่างไรก็ตามแม้ว่าต้นทุนการนำยางพารามาทำถนนจะสูงกว่าการใช้ยางมะตอยเพียงอย่างเดียวคิดเป็น 20 เปอร์เซ็น ซึ่งสูงมากหากเทียบกับการนำน้ำยางมาใช้เพียง 5 เปอร์เซ็น แต่หากคิดจุดคุ้มทุนต่อการซ่อมบำรุงรักษาต่อปีก็ถือว่าคุ้มและน่าสนใจอย่างยิ่ง  อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางการแก้ปัญหายางพาราในภาคใต้อีกด้วย   ซึ่งนอกจากถนนยางพาราแล้ว ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยยังได้อยู่ระหว่างการวิจัยนำน้ำยางพารามาเป็นชั้นรองตึกสำหรับป้องกันแผ่นดินไหว รวมไปถึง จานรองแก้วและเครื่องกีฬาต่างๆอีกด้วย


ที่มา : Mono29TV
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ผู้ชมหน้านี้ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น