นครวัด มหาปราสาทที่ไม่เคยตาย

•  อังกอร์หรือนครวัดสถาปัตยกรรมอันน่าอัศจรรย์ของอาณาจักรขอมโบราณ
•  รูปสลักนางอัปสรากับกิริยาอ่อนช้อยงดงาม
•  ซุ้มประตูเข้าสู่ปราสาทตาพรม



หากจะมีวสีใดที่สั่นสะเทือนความรู้สึกของคนทั่วทั้งโลกอย่างต่อเนื่องยาวนานนับศตวรรษ ก็เห็นทีว่าโลกจะต้องจารึกวลีอมตะของนักประวัติศาสตร์ อังกฤษ นาม “ อาร์โนลด์ ทอยน์บี ” ที่ว่า “see Angkor and die” หรือ “ อย่าด่วนวายชีวาตม์ หากยังไม่มีโอกาสยลังกอร์ ” เอาไว้ด้วย




แรกเริ่มเดิมทีใครๆ มักเข้าใจว่า “ อังกอร์ ” หมายถึงมหาปราสาทที่เรียกกันว่า “ นครวัด ” หรือ “ อังกอร์วัด ” ( Angkor Wat ) แต่เมื่อพบคงามจริงว่า “ นครวัด ” หรือชื่อจริงในศิลาจารึกว่า “ พิษณุโลก ” เป็นเพียงปราสาท หรือเทวสถาน 1 หลังในบรรดาปราสาทหินกว่า 200 หลังภายในอาณาจักรเขมรโบราณ ที่เคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรในระยะ 1,200 – 700 ปีก่อน ความเข้าใจที่ถูกต้องจึงปรากฏในกาลต่อมาว่า “ อังกอร์ ” หมายถึง “ เมืองพระนคร ” ทั้งเมือง ซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬารถึงราว 15 ตารางกิโลเมตร

แต่ความจริงก็น่าจะเข้าใจผิดอยู่ไม่น้อย ในเมื่อ “ นครวัด ” หรือ “ พระพิษณุโลก ” แห่งเดียวก็กินพื้นที่กว่า 2 ตารางกิโลเมตร เรียกว่าเป็นเมืองเมืองหนึ่งได้สบาย



อีกทั้งยังจัดเป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในโลก ด้วยสถิติประมาณการว่าจะต้องใช้หินในการก่อสร้างราว 600,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้ช้างชักลากหินราว 40,000 เชือก ใช้แรงงานคนอีกนับ 100,000 คน และใช้ประติมากรจหลักลวดลายถึง 5,000 คน ในระยะเวลาก่อสร้างราว 39 ปี ชนิดที่ดินแดนต้นกำเนิดปราสาทหินอย่างอินเดียและชวาก็ยังไม่มีเทวสถานขนาดมหึมาเช่นนี้


จึงไม่น่าแปลกใจที่สมัยหนึ่งเคยมีสถาบันจัดอันดับของสหรัฐอเมริกา ยกย่อง (เฉพาะ) นครวัดว่าเป็น “ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในรอบ 1,000 ปี ” ร่วมสมัยกับทัชมาฮาลของอินเดีย พระราชวังแวร์ซายน์ในฝรั่งเศล ฯลฯ แต่ทำไปทำมายังมีสิ่งก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีทันสมัยอย่างตึกเอ็มไพร์ สเตท เขื่อนยักษ์ฮูเวอร์มารวมอยู่ด้วย การจัดอันดับสิ่งมหัศจรรย์จึงคลายความน่าเชื่อถือไป ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับบัญชีรายชื่อ “ มรดกโลก ” ขององค์การยูเนสโกแทน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมี “ เมืองพระนคร ” หรือ “ อังกอร์ ” รวมอยู่ด้วย อันทำให้วลี see Angkor and die




จำนวนมากตั้งปณิธานว่า ก่อนตาย ชีวิตนี้จะต้องได้ไปเห็นนครวัดสักครั้ง ขนาดห้วงยามที่เกิดสงคราม มีระเบิดตูมตามอยู่โดยรอบ ก็ยังมีคนเสี่ยงชีวิตเข้าไปดูด้วยความกริ่งเกรงว่านครวัดจะเสียหายไปเสียก่อน ตราบจนวันนี้ เขมรมีสันติภาพตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ถาโถมเข้าไปในเมืองเสียมเรียบ (Siem Riep) เมืองที่ตั้งนครวัดพุ่งสูงขึ้นถึงปีละเกือบล้านอย่างชนิดไม่มีวี่แววว่าจะตกลง แม้อาจจะมีโรคซาร์และไข้หวัดนกมาสะกิดสะเกาบ้างบางเวลาก็ตาม



โรงแรมใหม่ๆ ตั้งแต่ 2 – 5 ดาวยังแข่งกันผุดขึ้นไม่ขาดสาย จนกล่าวกันว่าเสียมเรียมอาจเป็นเมืองที่มีโรงแรมมากที่สุดในโลกและเสียมเรียมเมืองเดียวสามารถเลี้ยงเขมรได้ทั้งประเทศ เพราะอัตราการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปเมืองอื่นมีเพียง 1 – 2 เปอร์เซ้นต์เท่านั้น จึงแน่นอนที่สุดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (นครวัด) ทำรายได้สูงสุดให้เขมร ทิ้งระยะห่างจากอันดับสอง คือสินค้าสัตว์น้ำจากทะเลสาบเขมรหลายช่วงตัว

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าความยิ่งใหญ่ของเมืองพระนคร หรือ “ อังกอร์ ” เกิดขึ้นจากแรงศรัทธามหาศาลของบุรพกษัตริย์เขมรที่มีต่อ 2 ศาสนา คือ ศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน สำหรับผู้ที่คิดจะเริ่มต้น “see Angkor” ก่อน “die” อาจเลือกชมปราสาทสำคัญที่สร้างถวายเทพฝ่ายฮินดู คือ นครวัดในฐานะที่เป็นสุดยอดของปราสาทเขมร บันทายเสรี ในฐานะเพชรน้ำเอกของศิลปะการจำหลักลายแบบเขมร และพนมบาเค็ง ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของเมืองพระนคร (อังกอร์)


ส่วนปราสาทที่สร้างถวายพระโพธิสัตว์ฝ่ายพุทธมหายาน คือ ปราสาทตาพรมที่มีรากต้นสมพงกอดกระหวัดรัดตัวปราสาทไว้อย่างน่าพิศวง ปราสาทนาคพัน ในฐานะโรงพยาบาลประจำอาณาจักร และปราสาทบายน ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจอันเกรียงไกรที่สุดของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ยุคสุดท้ายของเขมร



อย่างไรก็ตาม มีสถานีที่ซึ่งมิได้เป็นปราสาทแต่พลาดชมไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง คือ ลำธารกบาลสะเปียน (แปลว่าหัวสะพาน) ซึ่งมีภาพแกะสลักที่พื้นลำธารเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ และคิวลึงค์บนฐานโยนีนับพันองค์



จนได้รับสมญานามว่า “ สายน้ำสหัสลึงค์ ” ซึ่งแม้ว่าจะต้องเดินป่าโปร่งเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร แต่ก็คุ้มค่าอย่างที่สุด
•  เรือนรากไม้ใหญ่ไต่คลุมระเบียงปราสาทตาพรม
•  ลายสลักอันงดงามบนหินทรายสีชมพูที่ปราสาทบันทายสรี
•  พระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ปราสาทบายน
•  ภาพสลักนูนต่ำตามฝาผนังขององค์ปราสาทยังคงเด่นชัด

TRAVELLER’S GUIDE




การเดินทาง
การเดินทางสู่เมืองเสียมเรียมไปได้ทั้งทางรถจากอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วผ่านด่านปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจยของเขมรสู่เสียมเรียม ระยะทาง 150 กิโลเมตร ใช้เวลา 4 – 5 ชั่วโมง หรือบินตรง กรุงเทพฯ – เสียมเรียม ด้วยสายการบินบางกอก แอร์เวย์ส (หน้า 201)

ฤดูกาล
ช่วงเวลาที่น่าไปเที่ยวมากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์

การท่องเที่ยว
การเที่ยวชมกลุ่มปราสาทหินในนครวัดนั้นใช้เวลาประมาณ 2 – 3 วัน ควรซื้อทัวร์กับบริษัทนำเที่ยว ซึ่งมีหลายบริษัทในเมืองไทยจัดพาไป เช่น Nature Traveller (หน้า 202)

______________________________________________________________________
ที่มา : http://www.weddingstudio.org/honeymoon/AngkorWat.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น