เด็กอ้วนกับการออกกำลังกาย

ปัญหาเด็กอ้วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในเด็กทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคอาหารมากเกินความต้องการและมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง วิธีแก้ปัญหาเด็กอ้วนนอกจากควบคุมการกินอาหารแล้ว ควรเพิ่มการออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะทำให้
ควบคุมน้ำหนักได้ดีขึ้นพร้อมทั้งยังเพิ่มการสร้างมวลกระดูกและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดความดันโลหิตและไขมันในเลือด ระบบหัวใจหลอดเลือดแข็งแรงขึ้น รวมทั้งยังทำให้จิตใจและอารมณ์แจ่มใสอีกด้วย
ก่อนที่จะออกกำลังกาย เด็กควรจะมีการเตรียมตัวให้พร้อมเสียก่อน ได้แก่ เลือกใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม เช่น เนื้อผ้าระบายความร้อนได้ดี ขนาดพอดีไม่คับหรือหลวมจนเกินไป สวมรองเท้าผ้าใบหรือกีฬาที่สามารถรับแรงกระแทกได้ดี ควรออกกำลังกายในสภาวะอากาศที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงช่วงที่มีอากาศร้อนจัดหรือมีแสงแดดมากๆ ก่อนออกกำลังกายครึ่งชั่วโมงให้ดื่มน้ำ 1 แก้ว และอาจจะมีการพักดื่มน้ำเป็นระยะๆ ในช่วงเริ่มออกกำลังกายควรอบอุ่นร่างกายก่อน 5 นาทีแรก เช่นการเดินเร็วๆ วิ่งเหยาะๆ การยืดกล้ามเนื้อ เหยียดแขนขา เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อมีความพร้อมรับการออกกำลังกายที่หนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้
เด็กอ้วนมีโอกาสเสี่ยงในเรื่องการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและข้อต่อได้มาก เนื่องจากต้องรับน้ำหนักที่มากเกินกว่าปกติ การออกกำลังกายที่เหมาะสมจึงควรเป็นกีฬาที่มีแรงกระแทกน้อย เช่น เดินเร็วแนวราบ วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ แบดมินตัน ในเด็กอ้วนบางคนที่อ้วนมากๆ หรือมีโรคความดันโลหิตสูง หัวใจโต ไม่ควรเล่นกีฬาที่หนักเกินไป เพราะมีโอกาสที่หัวใจจะต้องทำงานมากขึ้น การออกกำลังกายแรงๆ จะเป็นอันตรายได้ หลังจากออกกำลังกายเด็กอ้วนควรสังเกตตนเองด้วยว่ามีอาการผิดปกติเช่น จุกเสียด หน้ามืด ปวดข้อ เกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
ดังนั้น ในเด็กอ้วนควรเริ่มออกกำลังกายจากระดับเบาเป็นหนักขึ้น และเพื่อให้ได้สมรรถภาพของหัวใจและปอดควรออกกำลังในระดับที่เหนื่อยพอสมควร กล่าวคือ เหนื่อยแต่ยังพอพูดได้จนจบประโยค เด็กควรออกกำลังกายติดต่อกันนานประมาณครั้งละ 20 นาทีขึ้นไปอย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ เมื่อออกกำลังกายเสร็จแล้ว ต้องไม่ลืมผ่อนคลายการออกกำลังอีก 5 นาทีก่อนที่จะหยุด ด้วยการค่อยๆ ลดระดับความหนักของกิจกรรมลง เช่นเปลี่ยนการวิ่งเป็นเดินเร็วแล้วปรับให้เดินช้าลง ตามด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้ออีกเล็กน้อยเพื่อร่างกายจะได้กลับคืนสู่สภาพปกติ
ผู้ปกครองควรช่วยส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยการช่วยกระตุ้นหรือเป็นแบบอย่างให้กับเด็กๆ ได้ เช่น ชักชวนไปออกกำลังกายกันทั้งครอบครัว คอยสนับสนุนให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ไปเข้าค่าย ร่วมทีมกีฬาของโรงเรียน เล่นสนามเด็กเล่นร่วมกับเพื่อน ส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมนันทนาการ เช่น เต้นรำ เล่นดนตรี ร้องเพลง กิจกรรมเข้าจังหวะ กิจกรรมการละเล่น ส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมทางกายทุกวัน เช่น ช่วยงานบ้าน กวาดถูบ้าน ปลูกต้นไม้ ล้างรถ การเดินและขี่จักรยานแทนการนั่งรถ ขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ควรให้เด็กหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อยู่นิ่งๆ เช่น ลดการดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ให้เหลือไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง
โดยสรุป หัวใจสำคัญของการออกกำลังกายในเด็กอ้วนเริ่มที่เด็กต้องมีความตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอด้วยการออกกำลังกายหรือกีฬาง่ายๆ ที่เด็กชอบ ทำแล้วรู้สึกสนุกเพลิดเพลิน มีระดับความหนักพอ ควรเหมาะสมกับตัวเด็กและไม่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ อาจเปลี่ยนแปลงการออกกำลังกายได้หลายรูปแบบเพื่อไม่ให้รู้สึกเบื่อง่าย นอกจากนี้การมีแรงสนับสนุนจากเพื่อนๆ และทุกคนในบ้านจะทำให้เด็กออกกำลังกายได้ต่อเนื่อง หากเด็กรักการออกกำลังกายแล้วการควบคุมน้ำหนักจึงไม่น่าเป็นเรื่องยากและยังเป็นการฝึกวินัย มีความมั่นใจ กล้าแสดงออกรวมทั้งทำให้มีจิตใจเบิกบานอีกด้วย
______________________________________________________________________
ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/partner/partner_stor/38529
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น