คุณคิดอย่างไรกับร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ฉบับใหม่


นายกรัฐมนตรียืนยันร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ได้มีจุดประสงค์ใช้ล้วงความลับ
ประชาชน แต่จะใช้ปิดกั้นข้อมูลผิดกฎหมายโดยเฉพาะมาตรา 112 ด้านโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนตั้งข้อสังเกตว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ยังขาดความชัดเจน ยากที่ประชาชนจะเข้าใจและเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง ส่วนเครือข่ายพลเมืองเน็ตชี้มีการจำกัดสิทธิ์ที่เข้มข้นขึ้น และอาจมีการละเมิดนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตไปทำธุร...กรรมโดยเจ้าตัวไม่ได้รับความยินยอม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นเรื่องร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาด้านซอฟท์แวร์และระบบการให้บริการ ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนตัว นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังระบุว่ารัฐบาลจะไม่นำกฎหมายมาใช้เพื่อล้วงความลับประชาชน แต่จะใช้ปิดกั้นข้อมูลที่ผิดกฎหมาย เช่น การทำผิดมาตรา 112
อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งยังต้องผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในหลายประเด็น โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ ตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อให้รับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่กฎหมายฉบับนี้ให้คำนิยามอย่างกว้าง ๆ ทำให้เข้าใจยาก และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะคำว่า “ภัยคุกคาม” ที่ไม่ได้ระบุว่าเป็นในเชิงเทคนิคหรือเนื้อหาที่เห็นว่ากระทบต่อความมั่นคง
นอกจากนี้ไอลอว์ยังเป็นห่วงเรื่องอำนาจเจ้าหน้าที่เพราะเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล จุดนี้ตรงกับความกังวลของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ซึ่งนายอาทิตย์ สุริยวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่าย มองว่าแม้จะมีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้อำนาจบางประการในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อการคุ้มครองประชาชน แต่ก็ต้องเป็นไปโดยรัดกุม และหากมีการละเมิดสิทธิของประชาชนก็จะต้องมีกลไกให้ร้องเรียน ชดใช้ค่าเสียหายหรือเยียวยา แต่ร่างกฎหมายที่จะออกมาแทบจะไม่มีกลไกเหล่านี้ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูล เช่น การดักฟังโทรศัพท์โดยไม่ต้องขอหมายศาล ซึ่งถือว่าให้อำนาจมากเกินไป
นายอาทิตย์ กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ควรใช้การดักฟังข้อมูลหรือโทรศัพท์เป็นทางเลือกสุดท้าย และหากจำเป็น จะต้องเขียนคำร้องต่อศาลให้เหตุผลเพื่อขอให้ศาลอนุมัติและรายงานผลการปฏิบัติต่อศาลเป็นระยะ
นอกจากร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์แล้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่มีความพยายามที่จะให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเก็บข้อมูลผู้ใช้จนถึงระดับที่สามารถระบุตัวตนผู้ใช้ได้ จุดนี้น่าเป็นห่วงว่าผู้ให้บริการจะเก็บข้อมูลเหล่านี้ได้ดีเพียงใดและจะหลุดรั่วจนมีผู้นำไปใช้หาประโยชน์หรือไม่

ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตเห็นว่าการออกกฎหมายที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างเช่นนี้ควรเปิดช่องทางให้มีเสียงสะท้อนจากทุกฝ่าย แต่ที่ผ่านมาทั้งสื่อ สมาคมผู้ประกอบการด้านอินเตอร์เน็ต และองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้เห็นร่างกฎหมายล่าสุดที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์กำลังเตรียมการ


ที่มา: https://www.facebook.com/BBCThai/photos/a.1527194487501586.1073741828.1526071940947174/1603657426521958/?type=1&theater
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ผู้ชมหน้านี้ :

แสดงความคิดเห็น

1 ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ23/1/58 19:36

    เริ่มเหมือนเกาหลีเหนือขึ้นทุกที ริดรอนสิทธิพื้นฐานของประชาชน

    ตอบลบ

เรื่องเด็ด น่าคิด น่าชม ที่ทุกที่ ทุกเวลา เรื่องเด็ด น่าคิด น่าชม ที่ทุกที่ ทุกเวลา 108thinks.blogspot.com