'จักรยาน' ร่วมเลน 'รถเมล์' ลดอุบัติเหตุหรือเพิ่มความเสี่ยงนักปั่น?

    ปล่อยออกมาแล้วสัญลักษณ์ “สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดสีเขียว” เพื่อบ่งบอกพื้นที่เลนรถจักรยานร่วม
ทางเดียวกับรถขนส่งมวลชน ผู้ใช้รถใช้ถนนต่างตั้งคำถามว่า สัญลักษณ์ใหม่ที่ผุดขึ้นมาบนถนนนี้จะช่วยลดอุบัติเหตุและช่วยเรื่องปลุกจิตสำนึกได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะแค่เพิ่มความสับสนให้แก่ระบบจราจรเท่านั้นเอง? 
        
        
        
       กทม.ทำสัญลักษณ์จราจรรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดสีเขียวบนพื้นถนน เพื่อดัดแปลง 'ช่องเดินรถมวลชน' ให้รถจักรยานใช้ร่วมทางด้วย ประเดิมเริ่มทำแล้วที่ถนนดินสอ โดย สุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักงานวิศวกรรมจราจรสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์สำนักหนึ่งว่า 
        
        
       สัญลักษณ์จราจรสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีเขียวนี้ ทางกทม. ออกแบบขึ้นมาใหม่เพื่อกำหนดให้เป็นเส้นทางสำหรับรถโดยสารมวลชนและรถจักรยานยนต์โดยประเดิมใช้เป็นที่แรกที่ถนนดินสอ เนื่องมาจากบริเวณถนนดินสอแบ่งช่องการจราจรเพื่อทำเลนสำหรับรถจักรยาน บริเวรถนนดังกล่าวมีลักษณะเล็กและแคบจึงยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายการทางจักรยานได้ กทม.จึงออกแบบสัญลักษณ์ดังกล่าวขึ้นมาเพื่อเอื้อให้กับผู้ใช้จักรยานที่ใช้เส้นทางในบริเวณนี้
        ทั้งนี้ สัญลักษณ์ดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ จะต้องมีการใส่สัญลักษณ์รูปจักรยานภายในช่องเลนเดินรถมวลชนเพิ่มเติมอีก เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเข้าใจถึงความหมายของสัญลักษณ์ ส่วนการออกแบบสัญลักษณ์นั้นทางสำนักงานวิศวกรรมจราจรได้ออกแบบขึ้นมาเอง แต่อาศัยรูปแบบเส้นทางจักรยานในต่างประเทศ
        ส่วนรูปแบบที่ต้องทาสีเขียวทึบนั้นเป็นการอ้างอิงตามสีของเลนจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ที่มีระยะทาง 8 กิโลเมตรเพื่อเพิ่มให้ผู้ใช้ทางเข้าใจว่าเป็นเลนจักรยานแบบเดียวกัน โดยจุดประสงค์ เพื่อต้องการให้ผู้ใช้รถใช้ถนนรับรู้ว่า ถนนเส้นนี้มีรถจักรยานร่วมเส้นทางอยู่ด้วย และให้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องผลักดันให้เป็นสัญลักษณ์ตามเครื่องหมายจราจร
        สำหรับสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ สามารถใช้ได้กับทุกเส้นทางที่กำหนดให้เป็นช่องเดินรถโดยสารเลนซ้ายสุด โดยถนนที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์จะใช้สัญลักษณ์เดียวกับถนนดินสอ หากเป็นเส้นทางอื่นทางกทม. จะทำสัญลักษณ์เป็นรูปรถจักรยานขนาดใหญ่แทน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มีการใช้เส้นทางจักรยานได้อย่างเต็มที่
       
       

        
        
       เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวทางทีมข่าว ASTV ผู้จัดการLive จึงสอบถามไปยัง ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เธอกลับมีความคิดเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยและอยากให้คิดให้รอบด้านถึงผลที่จะตามมาด้วย
        
        
       “ถ้าเรามองในมุมของเลน รถจักรยานก็ไม่ควรไปอยู่ในเลนเดียวกันกับรถโดยสารหรือรถอื่นเลยค่ะ เพราะว่าความเร็วมันไม่เท่ากันและขนาดของยานยนต์มันก็ไม่เท่ากันอยู่แล้ว รัศมีการตีโค้ง อย่างจอดหน้า เลี้ยว ปาด เข้าจอดเข้าออกอย่างนี้ค่ะ จักรยานก็จะมามันก็จะไม่สอดคล้องกันในแง่ของความเร็วและความปลอดภัยค่ะ
        ปกติแล้วหลักการของการทำเลนจักรยานหรือเลนรถจักรยานยนต์ มันใช้หลักการว่ายานพาหะนะที่มีความไว ความเร็ว สปีดที่มันไม่เท่ากันมันไม่ควรจะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพราะฉะนั้น ก็ต้องแยกเลนออกมา เพราะอย่างในกรณีที่คันหนึ่งช้า คันหนึ่งเร็วมันก็เสียจังหวะในการกะระยะของความเร็วกับระยะห่าง”
        
        
       การขับช้าในถนนไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย ด้วยความเร็วที่มันไม่สอดคล้องกัน เพราะฉะนั้น ต้องแบ่งโซนพื้นที่ความช้า ความเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
        
        
       “การวิ่งซ้ายเขาต้องเจอปัญของรถโดยสาร เพราะถึงป้ายจอดก็ต้องจอด รถจักรยานเขาจะมูฟเม้นตลอดไม่ใช่ขับแล้วจอด จะมีปัญหามากในการทรงตัวของเขา เขาก็ต้องการที่จะไปเรื่อยๆ ของเขา ที่ต้องสำรวจทิศทางการจราจรและการไหลของรถที่จะไม่ไปขัดกับการไหลของรถใหญ่ และต้องการสอดคล้องกับสัญญาณจราจร การขึ้นสะพานลงสะพานด้วยนะคะ เพราะฉะนั้น ต้องแบ่งโซนความเร็วให้มันเหมือนกัน อย่างเช่น ซาเล้งก็ไม่ควรมาอยู่ในถนนใหญ่เช่นเดียวกัน เพราะในประเทศเราอุบัติเหตุมันเกิดขึ้นในยานพาหะนะ ที่เป็น 2 ล้อ กับ 3 ล้อ ในส่วนใหญ่เลย”
        
        
       การกระตุ้นส่งเสริมในเรื่องของการประหยัดพลังงาน การใช้จักรยานของประเทศไทยจึงมีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การวางแผนถือเป็นสิ่งสำคัญ
        
        
       “คุณอย่าคิดว่าเลนจักรยานต้องชิดซ้ายเสมอนะ มันต้องออกแบบว่าถ้าสมมุติเขาอยู่ซ้ายสุด แต่เขาต้องข้ามไปอีกฝั่ง เหมือนอย่างเวลาที่เขาจะเลี้ยวหรือข้ามแยกเขาจะไปยังไงด้วย ต้องดูการไหลของรถค่ะ วิศวกรรมจราจรต้องมาทำการศึกษา ถึงวิธีการไหลของรถด้วยว่าจะเป็นอย่างไร
        ที่ทำสัญลักษณ์นี้ขึ้นมา คิดว่าเป็นความปรารถนาดีค่ะ เพราะในกรุงเทพมหานคร คนเริ่มใช้จักรยานกันเยอะเลยนะ แล้วรถจักรยานก็วิ่งออกมา เลน 2 เลน 3 จึงเป็นความหวังดีที่พยายามจะสนับสนุนให้มีที่มีทางสำหรับรถจักรยาน แต่คิดว่ายังคิดไม่ครบถ้วนนะคะ อยากจะเชียร์ให้ผู้บริหารทำเลนจักรยาน เลนจักรยานยนต์ อยากให้คิดให้รอบด้านและรอบคอบ คิดให้เป็นระบบสำหรับรถช้ารถเร็วเสียจังหวะ มันก็มาจากการจราจรติดขัดนี่แหละค่ะ”
        
        
       การใช้รถใช้ถนนทุกวันนี้ ถือว่าต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ทว่าไม่รู้ว่าจะระวังอะไรก่อนดี ทั้งทางม้าลาย ไบค์เลน เส้นซิกแซก และไหนจะสัญลักษณ์ใหม่ สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด นี้อีก ไม่รู้ว่าการเพิ่มสัญลักษณ์นี้ จะสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนหรือจะเพิ่มความสับสนให้กับผู้ขับขี่กันแน่? 
       
       ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
       ขอบคุณภาพจาก: เดลินิวส์


ที่มา : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000007109
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ผู้ชมหน้านี้ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น