รู้ทัน-เข้าใจ‘เชื้ออหิวาต์เทียม’

กรณีข่าวเรื่องผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจาก “เชื้ออหิวาต์เทียม” และมีข้อสงสัยว่าอาจมีสาเหตุ
จากการรับประทาน “ข้าวมันไก่” ที่มีเลือดไก่เป็นส่วนประกอบ อาจทำให้หลาย ๆ คนเกิดความกังวลใจจนไม่กล้ากินข้าวมันไก่กันไปสักระยะหนึ่งเป็นแน่...
          เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง สพ.ญ นภวัลย์ บรรพพงศ์  เจ้าหน้าที่ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์  คณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า เชื้ออหิวาต์เทียม หรือ (Vibrio parahaemolyticus) เป็นแบคทีเรียชนิดกรัมลบ มีทั้งชนิดที่ “ก่อโรค” และ “ไม่ก่อโรค” ปกติมักพบในน้ำทะเล หรือน้ำกร่อย รวมถึงในสัตว์น้ำเค็ม เช่น ปู หอย กุ้ง ปลาทะเล เชื้อจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในอาหารหรือน้ำที่มีเกลือโซเดียมคลอไรด์ 1-8%
          โดยสายพันธุ์ที่เกิดโรคในคนได้ เชื้อจะเจริญได้ดีที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสซึ่งคือ อุณหภูมิปกติของร่างกายของเรา นอกจากนี้ เชื้ออหิวาต์เทียม จะสามารถอยู่ได้ในอาหารทะเลที่เก็บไว้ในตู้แช่แข็งที่มีอุณหภูมิต่ำ เช่น เนื้อปูได้นานถึง 30 วัน ในกุ้งแช่แข็งนาน 6 วัน และในหอยนางรม นาน 1-3 เดือน เป็นต้น
         “ในงานวิจัยของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า เชื้ออหิวาต์เทียม (Vibrio parahaemolyticus) เป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง ที่ทำให้เกิด ‘โรคอาหารเป็นพิษ’ ของคนไทย”
         ทั้งนี้ 99 % ของเชื้ออหิวาต์เทียม จะไม่ก่อโรคในคนโดยตรง แต่สาเหตุที่พบจะเป็นการติดเชื้อทางเดินอาหาร (โรคอาหารเป็นพิษ) จากการรับประทานน้ำหรืออาหารที่มีเชื้อ ทำให้เกิดสะสมของเชื้อและสร้างสารพิษที่เรียกว่า ท็อกซิน (toxin) โดยจะแสดงอาการภายใน 4-96 ชั่วโมง อาการที่พบทั่วไปคือปวดท้อง ท้องเดิน อุจจาระเป็นน้ำ มีมูกเลือด ไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อาจหายได้เองภายใน 2-5 วัน โดยไม่ต้องรักษาได้ แต่ในบางรายเช่น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ อาจมีอาการที่รุนแรงกว่าคนทั่วไปอาจเกิดอาการเฉียบพลันและรุนแรงจนเกิดภาวะช็อก ซึ่งอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษมีน้อยเพียง 1 ต่อ 1,000 เท่านั้น
         วิธีการป้องกัน
         1. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อนที่พอเหมาะ
         2. ล้างมือทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
         3. หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารที่ปรุงทิ้งไว้นาน เกิน 2 ชั่วโมง
         4. แยกอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร ไม่ควรใช้อุปรณ์ปนกันระหว่างอาหารสุกและดิบ และล้างทำความสะอาดทันทีที่ใช้งานเสร็จ
         5. ไม่ควรซื้ออาหารที่ปรุงทิ้งไว้นาน หรือควรตรวจสอบว่าอาหารนั้นไม่บูดเสีย และควรอุ่นซ้ำก่อนการบริโภค
           สำหรับกรณีของการพบเชื้ออหิวาต์เทียมปนมากับเลือดไก่ สัตวแพทย์หญิงกล่าวว่า การป้องกันที่ดีที่สุดคือต้องปรุงทั้ง “เนื้อไก่-เลือดไก่” ให้สุกด้วยความร้อน ตั้งแต่  75 องศาเซลเซียส นานเป็นเวลา 15 นาที  หรือปรุงให้เดือด ที่  100 อาศาเซลเซียส จะสามารถฆ่าเชื้ออหิวาต์เทียมให้ตายได้ 100%
          “ทั้งนี้ เชื้ออาจปนเปื้อนมาในวัตถุดิบได้หลายทาง เช่น ระหว่างการชำแหละ การเตรียม การขนส่ง เพราะฉะนั้นการปรุงให้สุกด้วยความร้อน พยายามไม่เก็บอาหารสดทิ้งไว้นาน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันเชื้อ โดยไม่ควรลืมหลัก ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ’ ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร เพื่อสุขลักษณะที่ดีห่างไกลโรคอาหารเป็นพิษ” สพ.ญ นภวัลย์ กล่าวให้ความรู้ทิ้งท้าย



ที่มา : www.thaihealth.or.th 
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ผู้ชมหน้านี้ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น