สงครามออนไลน์ แฮกเกอร์!ขั้นเทพ


“แฮกเกอร์” มือขั้นเทพแสดงศักยภาพอีกครั้ง  ด้วยการเจาะเข้าไปในบัญชีผู้ใช้เว็บไซต์ “ทวิตเตอร์”
และ “ยูทูบ” กองบัญชาการกลางสหรัฐฯ...ขณะเดียวกับที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โอบามากำลังกล่าวปราศรัยเรื่อง “ความมั่นคงทางไซเบอร์” ได้อย่างเหมาะเจาะพอดิบพอดี
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า แฮกเกอร์กลุ่มนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มติดอาวุธ “รัฐอิสลามในซีเรีย” หรือที่เรียกกันว่า “ไอซีส”


ทวิตฯครั้งแรก ใช้ประโยคว่า “ทหารอเมริกา พวกเรากำลังมา ระวังหลังเอาไว้...ไอซีส” ขณะที่ภาพโปรไฟล์ส่วนตัวก็ถูกเปลี่ยนเป็นภาพขาวดำของบุคคลหนึ่งที่โพกผ้ารอบศีรษะ พร้อมกับมีข้อความสีขาวบนพื้นสีดำว่า “ฉันรักคุณไอซีส”

ส่วนบัญชีผู้ใช้ยูทูบที่ถูกแฮ็ก ก็มีการโพสต์คลิปวีดิโอที่มีเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มไอซีส นอกจากนี้กลุ่มแฮกเกอร์มือขั้นเทพยังอ้างว่าได้ขโมยและเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความลับของเซ็นคอมไปได้อีกด้วย
“กองบัญชาการกลางสหรัฐฯ” หรือ “เซ็นคอม” ดูแลปฏิบัติการทางทหารในหลายประเทศในตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และเอเชียกลาง การแฮ็กครั้งนี้ถือเป็นการลูบคมครั้งสำคัญ
ประเด็นน่าสนใจ หากแฮกเกอร์ได้ข้อมูลความลับที่สำคัญไปได้จริง ก็เป็นภัยต่อความมั่นคงทางการทหารที่น่าประหวั่นใจ


“สงครามไซเบอร์” หรือ “Cyber Warfare” ถูกนิยามขึ้นโดย ริชาร์ด เอ. คลาร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
หมายความถึง การที่รัฐหรือชาติใดก็ตาม ได้ทำการแทรกซึมเข้าไปยังเครือข่าย หรือระบบคอมพิวเตอร์เป้าหมาย เพื่อหวังทำลายหรือสร้างความแตกแยก โดยใช้อาวุธทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเครื่องมือทำลาย หรือล้วงตับข้อมูลจากอีกฝ่าย
“สงครามไซเบอร์” จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อปฏิบัติการทางทหาร ทั้งทางภาคพื้นดิน อากาศ ทะเล...คงต้องยอมรับกันว่าวันนี้ “สงครามไซเบอร์” ที่เราดูกันในหนังไฮเทคฮอลลีวูด ได้กลายเป็นเรื่องจริงนอกจอที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วทั้งวงการทหาร อุตสาหกรรม การค้าการเงิน การธนาคาร
“การทำสงครามไซเบอร์นั้น สามารถเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้ โดยที่ไม่ต้องสู้รบกันแบบเผชิญหน้าเหมือนในอดีต จึงทำให้เวลานี้เกิดความวิตกกังวล และปั่นป่วนไปทั่วโลก”
Dr.Marwan Jamal หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยแห่งชาติกลาโหม ไอคอลเลจ
ประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวไว้เมื่อครั้งมาบรรยายให้กับกระทรวงกลาโหม ประเทศไทย ในหัวข้อ “สงครามไซเบอร์ สิ่งที่ท้าทายความร่วมมือในอนาคตของชาติอาเซียน”
ดร.มาร์วัน ยกตัวอย่างการทำสงครามสมัยก่อน ถ้าข้าศึกต้องการจะโจมตีระบบสื่อสารของฝ่ายเรา ก็อาจใช้วิธีทำลายระบบสื่อสาร ด้วยการลักลอบเข้ามาตัดสายเคเบิล หรือนำระเบิดมาทิ้ง จนระบบสื่อสารของเราใช้การไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ข้าศึกในยุคสงครามไซเบอร์ อาจไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น
“แค่...เพียงหาทางโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ศูนย์บัญชาการฝ่ายเรา ให้เกิดความสูญเสียหรือใช้การไม่ได้ เท่านี้ระบบการติดต่อสื่อสารก็พังยับไม่เป็นท่าแล้ว...”
ในสงครามไซเบอร์ อาจมีชาติหนึ่งชาติใดแฝงตัวอยู่เบื้องหลัง ทุกวันนี้การโจมตีกันด้วยช่องทางนี้ เกิดขึ้นทั่วโลกนับล้านครั้งต่อเดือน ฝ่ายที่โจมตีไม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนสูง แค่เชี่ยวชาญในระบบคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต สามารถเจาะผ่านระบบรักษาความปลอดภัย จนสามารถเข้าถึงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของอีกฝ่ายได้
“แฮกเกอร์” คือฝ่ายปฏิบัติการในสงครามไซเบอร์ พ.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน ผกก.กลุ่มงานตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี (บก.สสท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกว่า ความน่ากลัวของแฮกเกอร์ในแวดวงต่างๆมีระดับต่างกันออกไป แต่ในวงการทหารถือว่าอยู่ในระดับสูง เพราะหมายถึงความมั่นคงของประเทศ
ปัญหาหลักในการแฮ็กวันนี้ยังอยู่ในเรื่องการเงิน แต่ที่กลัวมากกว่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคงปลอดภัย โดยเฉพาะระบบสกราดา ระบบบริหารควบคุมไฟฟ้าอัตโนมัติ ถ้าแฮกเกอร์ทำได้จะกระทบเยอะมาก
“ระบบขีปนาวุธ ระบบควบคุมปรมาณู ถ้ามีช่องเล็ดลอดให้แฮกเกอร์เข้าไปเจาะทำเป็นรีโมตใส่โปรแกรมควบคุมได้ อะไรจะเกิดขึ้น...”
หรือไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการโจมตีระบบป้องกัน ระบบเทคโนโลยีเรดาร์ฝ่ายตรงข้ามให้รวนจนไม่สามารถตรวจจับอะไรได้พบ แล้วก็มีเครื่องบินผ่านน่านฟ้าจริงๆไปโจมตีโดยตรง
แฮกเกอร์พุ่งเป้า...โจมตีด้วยวิธีต่างๆขึ้นอยู่กับสถานการณ์ อาจเลือกใช้วิธีรบกวนเรดาร์ระบบเตือนภัยของอีกฝ่าย...ขโมย...ทำลาย... ดัดแปลงแก้ไขข้อมูลเพื่อให้เกิดความสับสน เข้าใจผิด ฯลฯ
โลกสงครามไซเบอร์ยุคใหม่ ยังพัฒนาวิธีการโจมตีแบบแปลกๆ อาทิ ส่งผ่านคำสั่งระยะไกล เข้าไปเปิดสวิตช์ ทำให้การแก้ไขตัวเซ็นเซอร์ต่างๆภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่เซ็นเซอร์ภายในรถยนต์ถูกขัดขวางจนเกิดปัญหา
วิธีที่นิยมใช้กันมาก...“โจมตีเซิร์ฟเวอร์” ระบบปฏิบัติการซึ่งทำหน้าที่ให้บริการอย่างใดอย่างหนึ่งจนเซิร์ฟเวอร์ทำงานหนักมาก เครื่องร้อนจัดจนไหม้ หรือต้องปิดตัวเอง
เทคโนโลยีปัจจุบันไปไกลและน่ากลัว ยังมีโปรแกรมล้วงข้อมูลที่เรียกว่า “บอทเน็ต” ย่อมาจากคำว่า “โรบอท เน็ตเวิร์ก” เหมือนกับว่าเป็นโปรแกรมที่เป็นหุ่นยนต์ ทำหน้าที่เป็นไวรัสคอมพิวเตอร์ มีทั้งเป็นแบบโจมตีโดยตรง...โดยอ้อม
“บอทเน็ต” จะถูกเอาไปฝังไว้ตามเว็บลามก โฆษณาที่ป๊อปอัพขึ้นมาแล้ว ถ้าไปคลิกบอทเน็ตก็จะเข้ามาติดในเครื่องเราได้ เมื่อติดแล้ว...เครื่องคอมพิวเตอร์ของเราก็จะเป็นลูกสมุนของเจ้าของบอทเน็ต
คำว่า...“ลูกสมุน” เหมือนกับว่าเราติดไวรัสคอมพิวเตอร์แล้ว แฮกเกอร์เจ้าของบอทสามารถเลือกโหมดเข้ามาในเครื่องเราได้ตลอดเวลา รายงานเลยว่าเครื่องเราติดไวรัสตัวนี้เรียบร้อยแล้ว จะเข้ามาขโมยข้อมูลทุกอย่างในเครื่องไปได้ หนักกว่านั้น...แฮกเกอร์ยังสามารถทำให้เครื่องเราไปโจมตีเครื่องอื่นต่อได้อีก
“อย่างเช่นไม่พอใจเว็บของกระทรวงหนึ่งก็สั่งให้ลูกสมุนทั่วโลกไม่รู้กี่ล้านเครื่องเข้าไปที่เว็บไซต์นี้พร้อมๆกัน แค่นี้เว็บก็ล่มแล้ว เพราะไม่สามารถรองรับคนเข้ามาล้านคนในช่วงเวลาระดับวินาทีได้”
นี่คือวิธีการโจมตี การก่อการร้ายทางเทคโนโลยีเป็นสงคราม
ไซเบอร์ที่น่ากลัว ที่สามารถทำได้เยอะแยะมากมาย วันนี้คนไทยกับคำว่า “แฮกเกอร์” น่าจะคุ้นเคยกันดี ตระหนักว่ามีเรื่องพวกนี้เกิดขึ้น...
ณ บัดนี้ “สงครามไซเบอร์” การก่อวินาศกรรมทางสื่อสารสนเทศ ได้อุบัติขึ้นมาแล้วอย่างโจ๋งครึ่มบนโลกใบนี้...จะลงเอยอย่างไร ไม่มีใครตอบได้? ที่ตอบได้...คงมีแต่สร้างความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ และได้แต่หวังว่า...แต่ละประเทศจะรับมือไหว เอาอยู่.


ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/475150
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ผู้ชมหน้านี้ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น