บทเรียนจาก “วัลลี” และสามัญสำนึกของคนทำทีวี.ที่หล่นหาย

ชื่อของ “วัลลี ณรงค์เวทย์” ปรากฏตามสื่อในปี พ.ศ. 2524 เมื่อ นสพ. ไทยรัฐ ตีพิมพ์เรื่อง
ราวความกตัญญูของเธอ ในวัย 12 ปี ขณะกำลังเรียนอยู่ชั้นป.5 โรงเรียนวัดโรงธรรม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งต้องรับภาระในการดูแลทั้งแม่ที่ป่วยเป็นอัมพาต และยายที่พิการตาบอดเพียงลำพัง ท่ามกลางการรังเกียจเดียดฉันท์จากสังคมรอบข้าง


        ทุกเที่ยงวันเธอจะต้องวิ่งไป-กลับจากโรงเรียนมาที่บ้าน เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร เพื่อป้อนข้าวให้กับแม่และยาย บ่อยครั้งที่เธอโดนครูตีเพราะมาเข้าเรียนสาย จนเมื่อครูแอบตามไปที่บ้าน และเห็นสภาพความเป็นอยู่ของเธอ ที่ทำเอาครูสะเทือนใจ
       ถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ก่อนที่จะนำความไปปรึกษากับครูใหญ่ จนนำไปสู่ข่าวที่ปรากฏใน นสพ. ไทยรัฐ จากนั้นหน่วยงานต่างๆ จึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมทั้งยกย่องให้เธอเป็น “เด็กหญิงยอดกตัญญู” เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม
        จากแบบอย่างที่ดีในฐานะเด็กหญิงยอดกตัญญู วัลลียังได้รับทุนการศึกษา จนสามารถเรียนจบชั้น ปวช. ที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม แต่เนื่องจากปัญหาสุขภาพของยาย ที่ชรภาพมากแล้ว เธอจึงเลือกที่จะเรียนที่มหาวิทยาลัยสุโขทัย
       ธรรมาธิราช ทว่าเรียนไม่จบ เนื่องจากต้องเรียนไปด้วย และทำงานไปด้วย
        ชีวิตการทำงานของวัลลี เริ่มทำงานธนาคารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ก่อนที่ในอีก 8 ปีต่อมา จะตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายบริหาร มาลงทุนในธุรกิจส่วนตัว เริ่มจากประกอบอาชีพค้าส่งข้าวสาร แล้วจึงหันมาทำธุรกิจอาหารทะเลเมื่อปี 2544
        ในด้านชีวิตสมรส วัลลีแต่งงานกับพันตำรวจโท ธนพัฒน์ บุญเส็ง (ในขณะดำรงยศสิบตำรวจโท) มีบุตร 2 คน (บุญรัตน์ บุญเส็ง และณรงค์เวทย์ บุญเส็ง) และยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านเกิด จังหวัดสมุทรสงคราม


        จากวันนั้นถึงวันนี้ ชื่อของวัลลี ปรากฏเป็นข่าวทางหน้า นสพ. อีกครั้ง เมื่อเธอลุกขึ้นมาทวงถามถึงจริยธรรม และสามัญสำนึกของคนทำรายการทีวี ที่นำชีวิตจริงของเธอ ที่ต้องดูแลแม่ที่ป่วย และยายที่พิการไปสร้างเป็นละครตลกในเชิงล้อเลียน ซึ่งเธออดทนกับเรื่องนี้มาตลอด จนกระทั่งเมื่อลูกทั้งสองคนเริ่มเติบโตขึ้น และถูกเพื่อนๆ ล้อ เธอจึงจำเป็นที่จะต้องต่อสู้ เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเอง โดยการยื่นฟ้องรายการทีวี 3 รายการ คือชิงร้อยชิงล้าน , วันวานยังหวานอยู่ และปลาช่อนลุยสวน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 
        "คือที่ต้องออกมาแจ้งความ เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้พวกคุณเลิกละเมิดพวกเราสักที ไม่ใช่แค่ 3 รายการนี้ แต่ยังป้องกันรายการอื่นๆ ในอนาคตด้วย ซึ่งอาจจะมีครีเอทีฟรุ่นใหม่ๆ นำเอาพล็อตเรื่องนี้มาทำหรือล้อเลียนอีก สมัยก่อนรายการออกอากาศก็จบไป คนมาพูดเราก็อาย แต่ก็จบไป แต่ตอนนี้ไม่ใช่ มีลงในยูทิวบ์ ดูย้อนหลังได้ ปีหนึ่งคนดูเป็นล้านๆ คน ตอนนี้ก็เลยอยู่ไม่ได้แล้ว ต้องดำเนินการทำอะไรสักอย่าง หากอยู่นิ่งก็จะโดนแบบนี้ไม่จบสิ้น ที่ผ่านมา เราทำดีมาตลอด แต่ทำไม? ถ้าจะทำเรื่องวัลลี ต้องทำเรื่องตลก ไม่เข้าใจ วันนี้เรารับไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะการดูหมิ่นบุพการี สิ่งที่อยากจะถามผู้เกี่ยวข้องวงการตลกว่า การที่คนคนหนึ่งนอนเป็นอัมพาตต้องมีคนป้อนข้าวให้มันตลกใช่มั้ย? อยากขอให้คนที่ทำรายการมีวิจารณญาณ มีสามัญสำนึก จะทำอะไรให้เคารพสิทธิคนอื่น นึกจะทำอะไร หากทำโดยไม่เคารพคนอื่น คุณจะอยู่ในสังคมได้ยังไง?"
        โดยเธอได้เปิดเผยเพิ่มเติมทั้งน้ำตาในรายการ “เจาะข่าวเด่น” ว่าสิ่งที่ทำให้เธอเจ็บปวดมากที่สุด ก็คือแม้แต่ครูที่ช่วยเหลือเธอมาตลอด ยังมองว่าเธอนำเรื่องของบุพพการีไปหากิน โดยการขายให้รายการทีวีไปทำรายการตลก
        “ครูพูดว่าทำไมทำกับบุพการีแบบนี้ คำขอโทษร้อยพันคำที่ให้เรา มันแทนความรู้สึกตรงนี้ไม่ได้ ชาวบ้านบางคนพูดแรง ทำไมต้องหากินอย่างนี้ ยืนยันว่าไม่เคยขาย ไม่รู้เรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ทนมา 20 ปี ชีวิตเราไม่ตลก ไม่ยินยอมให้ไปทำตลกด้วย โดยเฉพาะที่ย้ำทุกครั้ง แม่เราไม่ใช่สิ่งที่คุณจะมาล้อเล่น ไม่มีสิทธิจะมายุ่งกับแม่ คุณไม่ต้องมาขอโทษเรา คุณไปขอโทษกับแม่

ตลอดระยะเวลา 20 ปี ปฏิเสธตลอดไม่ออกรายการ เพราะไม่อยากให้เป็นข่าวเพราะอยากให้เงียบ ไม่อยากให้ตลกเอาไปเล่น ต้องการให้ลืม ตัวเราไปวิ่งบ้าๆ บอๆ เราให้อภัยได้ เราไม่เจ็บปวด แต่กับแม่เราเจ็บปวดมากจริงๆ เพราะแม่ทุกข์เหลือเกิน คนที่เขาไปแสดงไม่ได้มีความเคารพแม่เราเลยมุ่งแค่ธุรกิจ ฮา ตลกอย่างเดียว ความรู้สึกตรงนี้ใครไม่โดนไม่เข้าใจหรอก เป็นเรื่องความรู้สึก เป็นเรื่องจิตใจ”
        ภายหลังที่เรื่องนี้ “ตกเป็นข่าว” ครึกโครม ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหว โดย “ตุ๊กกี้-สุดารัตน์ บุตรพรหม” ในฐานะหนึ่งในนักแสดงในรายการ “ชิงร้อยชิงล้าน” ที่รับบทเป็นวัลลี ได้เดินทางมาพบกับวัลลี และก้มกราบที่ตักแสดงความขอโทษ พร้อมกับมีการ โพสต์ภาพผ่านอินสตาแกรม @tukky66 พร้อมคำอธิบายภาพว่า "กราบพี่วัลลีที่เมตตาหนูค่ะ" 
        หลายคนอาจจะมองว่า “จบสวย” แต่จะสวยกว่านี้มั้ย? หากคนที่เดินทางเข้าไปขอพบและแสดงความเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น จะเป็นผู้บริหารของ บริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็น “ปัญญา นิรันดร์กุล” หรือ “ประภาส ชลศรานนท์” รวมไปถึงบรรดาโปรดิวเซอร์ , ครีเอทีฟของรายการ มากกว่าที่จะเป็นเพียงตุ๊กกี้ ซึ่งว่าไปแล้วเป็นเพียงนักแสดง หรือผู้รับจ้าง ซึ่งมีหน้าที่แสดงไปตามบทบาท ที่ถูกกำหนดขึ้นมาโดยทีมงานเท่านั้น เผลอๆ อาจจะได้เห็นบทหน้ากองถ่ายด้วยซ้ำ ขณะที่กว่าที่จะผ่านมาสู่ขั้นตอนการถ่ายทำได้นั้น ก็ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองความผิดมาแล้วหลายชั้น โดยเฉพาะรายการทีมีโปรดักชันใหญ่ และได้รับความนิยมสูงอย่าง “ชิงร้อยชิงล้าน” ของเวิร์คพ้อยท์ฯ หรือแม้กระทั่ง “วันวานยังหวานอยู่” ของโพลีพลัส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ด้วยแล้ว เป็นไปไมได้เลยที่จะไม่มีการประชุมงาน และ/หรือการผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากผู้บริหารระดับสูง เพราะฉะนั้นทั้ง “ปัญญา นิรันดร์กุล” หรือ “ประภาส ชลศรานนท์” แห่งเวิร์คพ้อยท์ฯ รวมไปถึง “อรพรรณ วัชรพล” แห่งโพลีพลัสฯ ตลอดจนทีมโปรดิวเซอร์ทั้งหลาย จึงไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบดังกล่าวได้เลย แต่กลายเป็นตุ๊กกี้ที่ต้องกลายเป็น “แพะรับบาป” ออกหน้าเสื่อรับผิดอยู่เพียงคนเดียว อย่าลืมว่าเรื่องของวัลลีเป็นเรื่องของจริยธรรมระดับชาติที่ทุกคนยอมรับ สมควรที่จะได้รับการยกย่องและเชิดชู มากกว่าที่จะถูกนำมาปู้ยี่ปู้ยำทำตลกบ้าๆ บอๆ 
        แต่ที่ผ่านมา “ปัญญา นิรันดร์กุล” ในฐานะผู้บริหารเวิร์คพ้อยท์ฯ ไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น มีเพียงการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ซึ่งก็เป็นไปในลักษณะ “แถ” คือตอบข้างๆ คูๆ ไม่ตรงคำถาม โดยไม่มีคำว่า “ขอโทษ” สักคำเดียวที่หลุดจากปาก ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติทุกครั้งที่ “ตกเป็นข่าว” ในลักษณะนี้
        ขณะเดียวกัน ผู้บริหาร และทีมงาน รวมถึงนักแสดงในรายการ “ปลาช่อนลุยสวน” ก็ได้เข้าพบพร้อมกับขอโทษวัลลี และภาพถ่ายของนางวิไล ณรงค์เวทย์ มารดาของวัลลีแล้วเช่นเดียวกัน ถึงวันนี้จึงมีเพียงโพลีพลัสฯ เท่านั้น ที่ยังคงเพิกเฉย ไม่มีการออกมาแสดงความรับผิดชองต่อการกระทำดังกล่าว ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
        เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่ถือเป็นบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ของคนทำรายการทีวี. ที่จะต้องมีสามัญสำนึก และตระหนักว่าชีวิตจริงของคนคนหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาล้อเล่น ล้อเลียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับพ่อ-แม่ หรือผู้มีพระคุณด้วยแล้ว ยิ่งไม่สมควร อย่าสักแต่จะเฮฮาบนคราบน้ำตาของคนอื่น เพราะผลกระทบในเรื่องของจิตใจนั้น มันละเอียดอ่อนกว่าที่คิด สมควรที่ผู้บริหาร, ผู้ผลิตรายการทีวี , ทีมงาน จะต้องกลั่นกรองความคิดให้มากกว่านี้
       จากชีวิตของเด็กหญิงยอดกตัญญูสู่แผ่นฟิล์ม
       เรื่องราวชีวิตจริงของ ด.ญ. วัลลี ณรงค์เวทย์ ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เพื่อมุ่งหวังที่จะสะท้อนให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงความกตัญญูต่อบุพพการี เข้าฉายในปี พ.ศ. 2528 โดยได้นักแสดงเด็กในขณะนั้น “ด.ญ. สมฤดี นุ่มอำพันธ์” รับบท ด.ญ. วัลลี (ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองดาวรุ่งฝ่ายหญิง) , นักแสดงอาวุโส “เปียทิพย์ คุ้มวงศ์” รับบทแม่วิไล และ “ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา” รับบทครูยุพิน ผู้นำเรื่องราวที่น่ายกย่องของวัลลีมาเปิดเผยสู่สาธารณชน


       เรื่องย่อ
       ด.ญ. วัลลี เด็กนักเรียนชั้นประถม อยู่กับแม่ พ่อ และยายที่ตาบอด แม่ชื่อวิไลมีอาชีพขายไอศกรีมได้กำไรเพียงเล็กน้อย แทบไม่พอจะซื้อข้าวกิน ส่วนพ่อก็รับจ้างทำงานทั่วไป บางวันไม่มีใครจ้าง พอเห็นความทุกข์ลำบากของลูกเมียจึงหนีออกจากบ้านไป แม่วิไลต้องไปขายเลือดตัวเองหลายครั้ง เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว จนร่างกายทรุดโทรม ถึงขนาดล้มลงไป กระทั่งต้องนอนป่วยเป็นอัมพาต เพราะไม่มีเงินรักษาตัว
       วัลลีเป็นนักเรียนที่เรียนเก่งสอบไล่ได้ที่หนึ่งแทบทุกครั้ง ชีวิตของประจำวัน ต้องตื่นแต่เช้า เพื่อปรนนิบัติแม่หาข้าวให้แม่และยาย แล้วต้องวิ่งไปโรงเรียนระยะทาง 2 ก.ม. ทุกๆ วัน และเวลาพักเที่ยงวัน เธอต้องรีบวิ่งไปบ้านเพื่อป้อนข้าวให้แม่แล้ววิ่งกลับไปเรียนต่อ บางครั้งครูต้องลงโทษเพราะมาโรงเรียนสาย ถูกเพื่อนๆ รังเกียจ ดูถูกดูแคลน ขณะที่พวกชาวบ้าน ก็เริ่มซุบซิบนินทาว่าแม่ของเธอถูกผีปอบเข้าสิง จึงนำกิ่งไม้ที่มีหนามมารองใต้เสื่อเพื่อขับไล่ผีตามความเชื่อในสมัยนั้น ทำให้ร่างกายของแม่ กลายเป็นแผลเน่าพุพอง และอาการทรุดหนักลงเรื่อยๆ
       วันหนึ่งครูยุพินให้นักเรียนเขียนวิชาเรียงความ และนักเรียนอ่านให้ฟังหน้าชั้นเรียน วัลลีเขียนเรื่อง "พระคุณแม่" และอ่านเรื่องชีวิตของเธอให้ฟัง ทุกคนฟังแล้วแทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ ครูยุพินจึงแอบตามไปที่บ้าน เห็นแม่วัลลีป่วยเป็นอัมพาตร่างกายมีแผลเน่า และยายตาบอดนำเรื่องมาปรึกษาครูใหญ่ และแจ้งเรื่องให้องค์การสงเคราะห์ และสื่อมวลชนนำเสนอข่าวความกตัญญูของวัลลี ทำให้ผู้คนจากทุกสารทิศยกย่องสรรเสริญ และมอบสิ่งของใช้ต่างๆ มากมาย รวมถึง “จักรยาน” เพื่อให้ขี้ไป-กลับระหว่างบ้านกับโรงเรียน พร้อมทั้งเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้วัลลีเป็นจำนวนมาก
        วัลลีขอร้องครูว่าขอนำเงินทุนการศึกษามารักษาแม่ ครั้งแรกครูไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะผิดวัตถุประสงค์ของผู้ให้ แต่เมื่อมีการประชุม และพิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้วจึงอนุญาต แม้ว่าวัลลีจะมีเงินมากพอที่จะรักษาอาการป่วยของแม่ แต่ก็ไม่สามารถจะยื้อชีวิตไว้ใด้ สุดท้ายแม่ก็เสียชีวิตลง ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของวัลลี
       เรียกว่าทุกคนที่ได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีใครไม่เสียน้ำตาให้กับความกตัญญู และสู้ชีวิตของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ และพร้อมจะถ่ายเทความสงสารไว้ให้กับวัลลี
       ทุกโรงเรียนในสมัยนั้น จะต้องพานักเรียนเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อให้นักเรียนได้เห็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของความกตัญญูต่อบุพพากรี ซึ่งเป็นเครื่องหมายของคนดี
       ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง “วัลลี” นำมาสู่ภาพยนตร์เรื่อง “ลูกรักของแม่” ที่เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของวัลลีภายหลังที่สูญเสียแม่ไปแล้ว
       จากนั้นทัศน์วรรณ ก็นำกลับมาสร้างเป็นละครทีวีทางช่อง 3 ในปี พ.ศ. 2530 โดยได้ “ด.ญ. ปัทมวรรณ เค้ามูลคดี” (ในขณะนั้น) ทายาทของนักแสดงอาวุโส “รอง-ปทุมวดี เค้ามูลคดี” รับบท ด.ญ. วัลลี ขณะที่ทัศน์วรรณ เปลี่ยนจากบทครู มารับบทเป็นแม่ และได้ “ดวงใจ หทัยกาญจน์” รับบทครู
       ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องวัลลี จะมีโอกาสกลับมาฉายอีกครั้งในปี พ.ศ. 2552 ทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับวัลลี ที่ยังคงอยู่ในใจหลายๆ คน กลับมางดงามอีกครั้ง


ที่มา : http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9580000008400
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ผู้ชมหน้านี้ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น