พ.ร.บ. ภาคบังคับ คุ้มครองอะไรบ้าง


ในช่วงปีที่ผ่านมาเชื่อว่าแทบทุกคนต้องได้ยินคำว่า พ.ร.บ. กันจนคุ้นหูแต่จะมีใครทราบบ้างว่าความ
หมายของ พ.ร.บ. ที่แท้จริงคืออะไร และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ขับขี่และผู้เดินถนนอย่างไรบ้าง หลายคนยังเข้าใจว่า พ.ร.บ. ให้ความคุ้มครองเฉพาะกับบุคคลที่ 3 หรือผู้ที่อยู่นอกรถเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ถูกตราขึ้น เพื่อให้ทุกคนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตอันเนื่องมาจากรถ ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร่งด่วน ไม่ว่าผู้ประสบภัยนั้นจะเป็นใคร อยู่ในรถหรือนอกรถ เป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือเจ้าของรถ โดยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาล หรือค่าปลงศพแล้วแต่กรณี อย่างไรก็ตามกฎหมายนี้ให้ความคุ้มครอง เฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย และอนามัยเท่านั้น ไม่รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน เช่น ค่าซ่อมรถแต่อย่างใด


ใครบ้างที่ต้องทำประกันภัย

1. เจ้าของรถ หรือผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถ
2. ผู้เช่าซื้อรถ หรือผู้มีสิทธิครอบครองตามสัญญาเช่าซื้อ
3. เจ้าของรถที่นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว


การฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัยตามกฏหมายมีโทษ

ตัวอย่าง บทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เช่น
1. เจ้าของรถหรือผู้เช่าซื้อรถผู้ใด ไม่จัดให้มีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.นี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000.- บาท
2. ผู้ใดนำรถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.นี้มาใช้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000.- บาท


ความคุ้มครองที่ผู้ประสบภัยหรือทายาทจะได้รับ

ความคุ้มครองของการประกันภัยตามกฎหมายที่ผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับขณะนี้ กำหนดไว้ ไม่เกิน 50,000 บาท/คน 
ไม่เกิน 5,000,000 หรือ 10,000,000 บาท/ครั้ง แล้วแต่กรณี โดยอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ


1. ค่าเสียหายเบื้องต้น

ผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บและเป็นค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย/ทายาทของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอค่าเสียหายดังกล่าวเรียกว่า ค่าเสียหายเบื้องต้น โดยมีจำนวนเงินดังนี้

- กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
- กรณีเสียชีวิต จะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท
- กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท รวมแล้วจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท

2. ค่าเสียหายส่วนที่เกินจากค่าเสียหายเบื้องต้น

เป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว โดยบริษัททรับประกันภัยที่เป็นฝ่ายผิดต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัย/ทายาทผู้ประสบภัย เมื่อรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นที่ผู้ประสบภัย/ทายาทได้รับแล้ว เป็นดังนี้ 

- กรณีบาดเจ็บ เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลรวมกับค่าสินไหมทดแทน ไม่เกิน 50,000 บาท
- กรณีเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จำนวน 200,000 บาท ไม่ว่าจะมีการรักษาพยาบาลหรือไม่ ถ้ามีค่ารักษาพยาบาลก่อนเสียชีวิตให้นำมารวมด้วย และรวมแล้วเท่ากับ 200,000 บาท

สรุปได้ว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ บังคับให้รถยนต์ทุกคันต้องจัดทำประกันภัย เพื่อคุ้มครอง และช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากการใช้รถ โดยมีความคุ้มครองดังตารางต่อไปนี้







ที่มา : http://www.dhipaya.co.th/insurance/insurance.asp?ID=13&idMenu=32
http://www.bangkokinsurance.com/insurance/car-insurance-complusory_th.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ผู้ชมหน้านี้ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น