ซูกินี...แฟนซี พืชผักที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกันนัก

หลายท่านอาจเคยผ่านตากับภาพผักชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะผลยาวรีคล้ายแตงกวา แต่มีขั้วขนาดใหญ่
หนาและมีร่องคล้ายกับขั้วฟักทอง ซึ่งเห็นได้บ่อยในเว็บไซต์ แม้จะถูกเรียกชื่อกันในหมู่คนไทยว่า “แตงกวาญี่ปุ่น” ก็ตาม แต่ทว่าในความเป็นจริง ซูกินี นั้น ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในญี่ปุ่นแต่อย่างใด แต่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาตอนกลางถึงตอนใต้ ในแถบประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา นิการากัว ฯลฯ และถูกพัฒนาสายพันธุ์ จนเป็นที่นิยมแพร่หลาย/ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ (เรื่อง-ภาพ)



“ซูกินี” เป็นผักที่ตลาดในประเทศไทยนับว่ายังไม่แพร่หลายมาก แต่ทว่า ซูกินี ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ฯลฯ 
ในปัจจุบัน ซูกินี มีความโดดเด่นด้วยคุณค่าทางโภชนาการคือ เป็นผักที่มีใยอาหารสูง มีคุณสมบัติช่วยลดความดันโลหิต คอเลสเตอรอลต่ำ รสชาติดี และมีสีสันสวยงาม น่ารับประทาน อีกทั้งยังปรุงอาหารได้หลากหลายประเภท สามารถรับประทานได้ทั้งสดๆ เช่น สลัด และเครื่องเคียงในอาหารประเภทต่างๆ และการปรุงให้สุก เช่น ผัดเดี่ยวๆ หรือผัดรวมกับเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ทำแกงจืด และอีกมากมาย 
นับเป็นผักที่น่าสนใจอย่างยิ่งในปัจจุบัน  
ข้อมูลเดิมของการปลูก ซูกินี ในประเทศไทย เชื่อว่า ซูกินี เป็นผักเมืองหนาว จึงปลูกได้ดีในภาคเหนือ และพื้นที่บนภูเขาสูงของไทยเท่านั้น และ ซูกินี ถูกนำเข้ามาปลูกนานแล้วในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งโดยส่วนมากเจาะจงพื้นสูง ตั้งแต่ 600 เมตร ขึ้นไป อุณหภูมิเฉลี่ย 18-30 องศาเซลเซียส

แต่ทว่าล่าสุดพบว่า การปลูกซูกินีสามารถปลูกให้ประสบผลสำเร็จได้ในพื้นที่ราบของจังหวัดพิจิตร ซึ่งตั้งอยู่ที่ภาคเหนือตอนล่างที่มีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศไม่ต่างจากพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 28-35 องศาเซลเซียส 
โดยทดลองปลูกที่ “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398 ซึ่งนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากประเทศไต้หวัน เพื่อนำมาทดลองปลูก และได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง 
ซูกินี เป็นพืชวงศ์แตง อยู่ในสกุลเดียวกับฟักทอง ซูกินี เป็นพืชฤดูเดียว มีอายุสั้น 70-80 วัน มีข้อดีคือหลังปลูกในระยะเวลาเดือนกว่า หรือราวๆ 40 วัน ก็เริ่มเก็บผลผลิตได้ 
ลักษณะทางกายภาพของ ซูกินี เป็นพืชกึ่งเลื้อย ลำต้นเป็นข้อสั้น ใบเป็นใบเดี่ยวก้านใบยาวกลวง ใบเป็นรูปเหลี่ยมคล้ายใบตำลึงเมื่อต้นยังอ่อน และเป็นแฉกคล้ายใบมะละกอ เมื่อต้นเจริญเติบโตเต็มที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของซูกินีนั้นๆ ด้วย  
ผิวใบ มีลักษณะหยาบ และมีขนขนาดใหญ่ขึ้นปกคลุมผิวใบห่างๆ ตลอดทั้งใบและลำต้น

 
ดอก เป็นดอกแยกเพศอยู่ภายในต้นเดียวกัน โดยดอกตัวผู้จะเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่เมื่อเกิดใบจริงใบแรก และเจริญเติบโตไปพร้อมกับการเจริญเติบโตของลำต้น ดอกตัวผู้จะบานในราวๆ สัปดาห์ที่ 4 หลังปลูก 
ส่วนดอกตัวเมียจะเริ่มปรากฏให้เห็นในช่วงประมาณ สัปดาห์ที่ 3 หลังปลูก โดยจะมีรังไข่ลักษณะยาวรีอยู่ใต้ฐานดอก
ดอกตัวเมีย ดอกที่ 1-3 มักจะไม่บาน แต่สามารถติดผลได้โดยไม่ได้รับการผสมเกสร กล่าวคือ รังไข่ จะพัฒนาเป็นผลโดยที่ดอกไม่บานเลย และดอกจะร่วงโรยไปโดยไม่มีการบานเกิดขึ้น

ดอกตัวเมียจะเริ่มบานในสัปดาห์ที่ 5 หลังการปลูก ซึ่งมักจะเป็นดอกที่ 3 หรือ 4 เป็นต้นไป อายุการบานของดอกซูกินี สั้นมาก ราวๆ 5 ชั่วโมง คือ 04.00 น. ถึง 08.00 น. โดยประมาณ จากนั้นจะหุบและเฉา หมดความพร้อมที่จะผสมเกสร 
ผลของ ซูกินี เป็นทรงยาวรี ผิวเรียบเป็นมัน ซึ่งสายพันธุ์ที่ปลูกนั้น เป็นสายพันธุ์แฟนซี มีผลสีเหลือง และอาจแต้มเขียวด้วยในบางต้น ซึ่งสายพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่มีความหลากหลายทางสีสันและลวดลายมาก หากปล่อยให้ ซูกินี ติดผลจนแก่ 
ซูกินี ต้นหนึ่งๆ จะสามารถเลี้ยงผลได้เพียง 3-5 ผล และดอกตัวเมียที่ออกมาหลังจากนั้นจะฝ่อไป ไม่ติดผลอีก ถ้าเก็บผลผลิตอยู่เสมอ ซูกินี ต้นหนึ่งๆ จะติดผลได้เรื่อยๆ ราวๆ 10-15 ผล ต่อต้น แล้วแต่ความสมบูรณ์ของต้นด้วย 
ทรงพุ่มของ ซูกินีแฟนซี ที่ปลูกนั้นมีขนาดความกว้าง 100-120 เซนติเมตร และสูงราวๆ 100 เซนติเมตร  ฉะนั้น เมื่อจัดระยะการปลูก จึงต้องคำนึงถึงการเจริญเติบโตและการขยายทรงพุ่มด้วย

การปลูก  และการดูแลรักษา 
การปลูกซูกินีแฟนซีในชุดนี้ เราใช้วิธีปลูกในถุงปลูกขนาดใหญ่ เมื่อใส่วัสดุปลูกลงไปแล้ว จะมีขนาด กว้าง 14 และสูง 16 นิ้ว โดยประมาณ   ซึ่งข้อดีของการปลูกในถุงปลูกคือ สามารถควบคุมคุณภาพของวัสดุปลูกได้ดีกว่าการปลูกในแปลง
วัสดุปลูกประกอบด้วย แกลบดำ 2 ส่วน ขุยมะพร้าว 2 ส่วน และดินร่วน 1 ส่วน 
การทดลองปลูกซูกินีในชุดนี้ เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว คือเริ่มปลูกตั้งแต่ วันที่ 6 เดือนตุลาคม จนถึงเดือนธันวาคม 2557

โดยมีขั้นตอนการปลูกดังนี้ เมื่อได้เมล็ดมา นำเมล็ดมาแช่ในน้ำ เป็นระยะเวลา 4-6 ชั่วโมง แล้วนำไปวางบนผ้าหรือกระดาษทิชชูที่ชุ่มน้ำพอหมาดแต่ไม่แฉะ แล้วหุ้มด้วยถุงพลาสติกเพื่อเก็บกักความชื้น จากนั้นบ่มทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก


โดยมีรากแทงออกมาเพียงรากเดียว จึงย้ายลงปลูกในถาดเพาะ โดยใช้วัสดุเพาะสำเร็จรูป (มีเดีย) ผสมกับขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1:1 เป็นวัสดุปลูก
การย้ายเมล็ดที่งอกลงถาดเพาะ ควรรีบย้ายเมื่อรากเริ่มแทง อย่าให้ยาวหรือมีรากฝอยออกมา เพราะจะทำให้กระทบกระเทือน และบอบช้ำได้ง่าย เมื่อย้ายลงถาดเพาะเรียบร้อยแล้ว รดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอ ด้วยบัวรดน้ำฝอยละเอียดสำหรับใช้รดน้ำต้นกล้า จนมีใบจริง 2 ใบ ใช้ระยะเวลา 6-7 วัน จึงย้ายต้นกล้าลงปลูกในถุงที่เตรียมไว้ 
เมื่อย้ายปลูกต้นกล้าเสร็จรดน้ำให้ชุ่ม เพื่อให้ดินกระชับราก หลังจากปลูกได้ 3 วัน เมื่อต้นเริ่มตั้งตัวได้แล้วคลุมหน้าวัสดุปลูกด้วยฟางข้าว เพื่อช่วยพยุงต้น และป้องกันน้ำที่รดจะชะวัสดุปลูกให้เสียรูป

หลังจากปลูกได้ 7 วัน ให้ปุ๋ย สูตร 25-7-7 ละลายน้ำ ในอัตราส่วน 2.5 กิโลกรัม และธาตุอาหารเสริม (โฟลบาย) 8 กรัม ต่อน้ำ 100 ลิตร รดหลังจากให้น้ำ แล้วหลังจากนั้นทุกๆ 7 วัน ให้ปุ๋ย สูตร 16-16-16 สลับกับ สูตร 25-7-7 ผสมกับธาตุอาหารเสริมตามอัตราเดิมที่ได้กล่าวมาแล้ว 

หลังจากย้ายปลูก 26-30 วัน ดอกตัวผู้จะเริ่มบาน และสังเกตเห็นดอกตัวเมียที่ติดผลโดยไม่บาน เปลี่ยนอัตราการให้ปุ๋ย เป็น สูตร 8-24-24 ร่วมกับธาตุอาหารเสริม ด้วยอัตราส่วนตามเดิม เพื่อบำรุงดอกและผล หลังจากดอกโรยก็จะสามารถเก็บผลผลิตได้ โดยขนาดที่เหมาะสมต่อการเก็บเกี่ยวนั้น เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-6 เซนติเมตร ยาว 12-20 เซนติเมตร 
เทคนิคดูแลระยะต่างๆ แบบแปลงขนาดใหญ่/การเตรียมแปลงปลูก

การเตรียมแปลง ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นหัวใจของพืชที่จะเป็นที่ยึดเกาะรากและเป็นแหล่งอาหาร
ขั้นแรก คือ ไถดะ ด้วยผาลเบิกหน้าดิน เพื่อไถให้หญ้าและวัชพืชต่างๆ ตาย ตากดิน 7-10 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในดิน
สอง ไถแปลด้วยผาลพวงหรือผาลแปลดิน ให้ดินละเอียดมากขึ้น

สาม เราจะเริ่มเตรียมแปลง โดยการยกแปลงเป็นร่อง ที่มีความสูง 30-40 เซนติเมตร กว้าง 80-100 เซนติเมตร วัดระยะห่างระหว่างร่อง 1 เมตร

ก่อนที่เราจะยกร่อง เราต้องเพิ่มสารอาหารทางดินให้แก่พืช เช่น ปุ๋ยคอกเก่า ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเคมี สูตรเสมอ 16-16-16 อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อไร่ + ปูนขาว 20 กิโลกรัม ต่อไร่ หว่านให้ทั่วบริเวณสันร่องที่เราจะยกร่อง

เมื่อหว่านปุ๋ยกับปูนขาวเรียบร้อยแล้ว ยกร่องด้วยผาลคู่ให้มีขนาดดังกล่าว ฉีดพ่นอาหารเสริมโกรแคล 10 ซีซี + สารมีโซแซม 10 กรัม เพื่อป้องกันแมลงและมดต่างๆ ผสมน้ำ 20 ลิตร บนหลังร่อง จากนั้นวางสายน้ำหยดบนหลังร่อง และคุมด้วยพลาสติกคลุมแปลงสีเทา

การย้ายปลูกลงแปลง

หลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์ลงถาดหลุม 6-8 วัน ก็สามารถปลูกลงแปลงได้โดยสังเกตจากการแตกยอดและออกใบจริง 2 ใบ โดยมีวิธีการปลูก เราก็ย้ายลงแปลงปลูกโดยให้ระยะระหว่างต้น 70-100 เซนติเมตร (ระยะขึ้นอยู่กับฤดูปลูก และสายพันธุ์) รองก้นหลุมด้วยสารมีโซแซม หลุมละ 2 กรัม เพื่อป้องกันแมลงศัตรูเข้าทำลายต้นพืช

ซึ่งควรย้ายกล้าปลูกในช่วงเวลาเย็นแสงแดดไม่แรง โดยก่อนหน้าที่จะย้ายกล้า ควรเปิดน้ำให้แปลงมีความชุ่มชื้นบ้างไว้ล่วงหน้า 1 วัน หรือเปิดน้ำไว้ในตอนเช้า เมื่อปลูกเสร็จแล้วต้องรดน้ำตามทันทีอีกครั้ง
การให้น้ำ

ซูกินี เป็นพืชที่มีความต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าขาดน้ำจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต และผลผลิตคุณภาพต่ำ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเกษตรกรให้น้ำมากเกินไป ต้นซูกินีก็จะชะงักการเจริญเติบโตได้เช่นกัน 
การใส่ปุ๋ย

หลังจากย้ายปลูก ควรให้ปุ๋ยทุกๆ 10 วัน ของอายุพืช ใช้ปุ๋ย สูตร 16-16-16 ในอัตราส่วน 10 กิโลกรัม ต่อน้ำ 100 ลิตร ต่อพื้นที่ 1 ไร่ โดยมีวิธีการให้ปุ๋ยคือ เกษตรกรต้องละลายปุ๋ยทิ้งไว้ 1 คืน ตามอัตราส่วน จากนั้นเอาส่วนที่เป็นน้ำใสมาใส่ไปกับระบบน้ำหยดให้ไปกับการให้น้ำต้นซูกินี (ที่ใช้เฉพาะน้ำปุ๋ยที่เป็นส่วนน้ำใสนั้น เพื่อป้องกันกากตะกอนของปุ๋ยเคมีไปอุดตันระบบน้ำ)

โดยต้องให้น้ำตามปกติก่อนให้ดินมีความชุ่มพอประมาณ และค่อยปล่อยปุ๋ยไปตามระบบน้ำ (ถ้าใส่ปุ๋ยเคมีโดยที่ดินยังไม่มีความชุ่มชื้น จะทำให้พืชเหี่ยวได้ เพราะความเข้มข้นของปุ๋ยมากเกินไปนั้นเอง)
การเก็บผลผลิต

เก็บเกี่ยวผลอ่อน ผิวเป็นมัน หลังจากดอกบาน  5-7 วัน หรือเมื่อกลีบดอกหลุดจากผล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร ความยาว 10-20 เซนติเมตร เก็บเกี่ยวทุก 2-3 วัน โดยใช้มีดปลายแหลมหรือกรรไกรตัดที่ขั้วของผล ราคาจำหน่ายซูกินี ตอนนี้ตามท้องตลาดบ้านเรา จำหน่ายซูกินีในราคา กิโลกรัมละ 45-60 บาท 
โรคและแมลงศัตรู ที่สำคัญในระยะต่างๆ ของการเจริญเติบโต

ซูกินี เป็นพืชผักที่อ่อนแอต่อโรคไวรัส แต่เรามีเทคนิคง่ายๆ ที่เราจะปลูกซูกินีให้ประสบความสำเร็จ การที่พืชจะเป็นไวรัสนั้น จะต้องมีพาหะเป็นตัวนำเชื้อไวรัสมานั้นก็คือ แมลงต่างๆ

ดังนั้น เทคนิคง่ายๆ คือ การควบคุมแมลงไม่ให้ระบาดในแปลงพืชของเรา แค่นี้เราก็หมดปัญหาเรื่องของไวรัส และที่สำคัญเมื่อพบเจอต้นพืชที่เป็นโรคไวรัสต้องถอนไปทำลายนอกแปลงทันที โรคและแมลงที่พบในการปลูกซูกินีตามระยะของการเจริญเติบโตต้องเฝ้าระวัง 
ระยะกล้า-ย้ายปลูก เพลี้ยไฟ แมลงกัดกินใบ 
ระยะเจริญเติบโต-ออกดอกแรก 30-35 วัน โรคไวรัส โรคราแป้ง เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน
ระยะเก็บเกี่ยว 40-60 วัน โรคไวรัส โรคราแป้ง โรคผลเน่า เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน แมลงวันแตง

จากการปลูกซูกินีแฟนซี ที่ สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร ที่ปลูกในถุงดำ ได้นำพันธุ์ “ซูกินีแฟนซี” จากไต้หวันมาปลูกที่ประเทศไทยเป็นที่แรก โดยปลูก ที่สวนคุณลี ทั้งปลูกแบบสภาพแปลงและปลูกในถุงดำขนาดใหญ่ ซูกินีแฟนซีให้ผลผลิตดีมาก ออกดอกติดผลดก มีการเจริญเติบโตที่ดี ซูกินีแฟนซี ให้ผลสีเหลืองสด สลับลายสีเขียวอ่อน  สีเขียวเข้ม ทำให้สีสันของผลซูกินีแฟนซีดูน่าสนใจมาก 

อีกอย่าง ซูกินี มีคุณภาพเนื้อแน่น หวาน กรอบ รสชาติอร่อย ผลผลิตได้ต่อต้นดี

การปลูก ซูกินีแฟนซี (สายพันธุ์จากไต้หวัน) สามารถปลูกในประเทศไทยที่จะได้ผลดีนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคเหนือ หรือพื้นที่อากาศหนาวเย็นเท่านั้น แต่ปลูกได้ในสภาพของพื้นที่ราบภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางได้ด้วยเช่นกัน


ข้อมูล : นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน www.technologychaoban.com


ที่มา :  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1422073219
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ผู้ชมหน้านี้ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น