ทีมนักประดาน้ำกู้ “กล่องดำ” แอร์เอเชีย “ใบที่ 2” ขึ้นจากทะเลชวาได้สำเร็จ


ทีมนักประดาน้ำสามารถกู้กล่องดำใบที่ 2 ของเครื่องบิน “แอร์เอเชีย” ขึ้นมาจากก้นทะเลชวาได้แล้วใน
วันนี้ (13 ม.ค.) ส่งผลให้เหล่านักพนักงานสืบสวนพากันใจชื้น ที่ได้อุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถสืบหาสาเหตุที่ทำให้เที่ยวบิน QZ8501จมลงสู่ทะเลได้สำเร็จ
       
       ทอนนี บูดิโอโน ผู้อำนวยการสำนักงานการเดินเรือ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียแถลงว่า เมื่อรุ่งเช้าที่ผ่านมา ทีมค้นหาสามารถนำเครื่องบันทึกเสียงภายในห้องนักบินขึ้นมาจากใต้ซากปีกเครื่องบินอันหนักอึ้ง ซึ่งอยู่ลึกลงไปราว 30 เมตรได้สำเร็จ ภายหลังที่สามารถกู้อุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินของอากาศยานลำนี้ขึ้นมาได้ 1 วัน
       
       เขากล่าวว่า “ขอบคุณพระเจ้า นี่เป็นข่าวดีของพนักงานสืบสวน กล่องดำจะช่วยเปิดโปงสาเหตุที่เครื่องบินลำนี้ตก”
       
       อุปกรณ์ชิ้นนี้จะถูกส่งไปยังกรุงจาการ์ตา อันเป็นเมืองหลวงของอินโดนีเซีย เพื่อดาวน์โหลดข้อมูลในเครื่องไปวิเคราะห์ เนื่องจากกล่องดำสามารถบันทึกข้อมูลของเที่ยวบินที่ใช้เวลาเดินทางนาน 2 ชั่วโมง ข้อมูลการสนทนาทั้งหมดระหว่างกัปตันกับนักบินที่ 1 จึงควรถูกเก็บไว้ในกล่องดำใบนี้ด้วยเช่นกัน
       
       เมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา เครื่องบินลำนี้ดำดิ่งลงสู่ทะเลชวา หลังทะยานออกจากท่าอากาศยานเมืองสุราบายา ของอินโดนีเซีย เพื่อมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์ได้เพียง 42 นาที เป็นผลให้ลูกเรือและผู้โดยสารเสียชีวิตยกลำ 162 คน แต่จนถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่สามารถกู้ศพผู้เสียชีวิตขึ้นมาได้เพียง 48 รายเท่านั้น
       
       การค้นพบครั้งนี้นับเป็นแรงกระตุ้นครั้งล่าสุดของภารกิจค้นหาใต้สมุทรที่ตื้นเขินและเต็มไปด้วยดินโคลน ซึ่งดำเนินไปอย่างเชื่องช้า 



        ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมนักประดาน้ำสามารถกู้ส่วนหางของเครื่องแอร์บัส A320 ที่มีสีแดงขาว และปรากฏโลโก้ตัวเขียนภาษาอังกฤษของสายการบินอยู่เด่นชัด ตามที่จริงแล้วกล่องดำติดตั้งอยู่ในส่วนหางของเครื่องบิน ทว่า สูญหายไปในช่วงที่ซากเครื่องบินถูกดึงขึ้นสู่ผิวน้ำ 



        ทีมประดาน้ำจะสามารถกู้กล่องดำกล่องที่ 2 ได้ในเวลาอันรวดเร็ว หลังเรือ 3 ลำของแดนอิเหนาสามารถตรวจจับสัญญาณ ping ได้ชัดเจนมาก โดยพบว่าตกอยู่ห่างจากจุดที่พบกล่องดำใบแรกออกไปราว 20 เมตร ทว่าคลื่นลมแรง และลำแสงที่สว่างจ้าได้กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางภารกิจค้นหานาน 17 วันของทีมนักประดาน้ำ แต่พวกเขาก็สบโอกาสในช่วงรุ่งเช้าของวันที่คลื่นลมสงบลงทั้งสองวัน กู้อุปกรณ์เหล่านี้ขึ้นมาได้สำเร็จ
       
       ข้อมูลที่ได้จากกล่องดำทั้งสองใบ (ซึ่งตามที่จริงแล้วมีสีส้ม) น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง อุปกรณ์ชิ้นนี้ถูกออกแบบมาให้ทนต่อความร้อน และแรงกดดันใต้ทะเลลึก เครื่องมือเหล่านี้ควรเผยให้พนักงานสืบสวนทราบรายละเอียดในการบินชนิดวินาทีต่อวินาที
       
       เครื่องบันทึกเสียงสามารถบันทึกบทสนทนาทั้งหมด ระหว่างนักบินทั้งสองกับเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ ตลอดจนเสียงใดๆ ก็ตามที่ดังอยู่ในห้องนักบิน รวมทั้งเสียงสัญญาณเตือน หรือเสียงระเบิดที่อาจเกิดขึ้น สำหรับเครื่องบันทึกข้อมูลการบินนั้นควรบันทึกข้อมูลสถานะ และสภาวะของส่วนต่างๆ ที่สำคัญของเครื่องบินไว้ได้เกือบทุกชิ้น เป็นต้นว่า ระดับเพดานบิน ความเร็วลม ทิศทาง แรงขับของเครื่องยนต์ อัตราการขึ้นลง และมุมก้มหรือมุมเงยของเครื่องบิน
       
       จอห์น โกลยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกในคณะกรรมการความปลอดภัยในการขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า “มีข้อมูลมากกว่า 200 พารามิเตอร์ถูกบันทึกเอาไว้ เจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้จะให้ข้อมูลแก่เราอย่างมหาศาล”
       
       ในการติดต่อกับหน่วยควบคุมการจราจรทางอากาศครั้งสุดท้าย นักบินของสายการบินแอร์เอเชียได้ขอไต่เพดานบินจาก 32,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล ขึ้นเป็น 38,000 ฟุต เพื่อหลบเลี่ยงมวลเมฆ แต่ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากในความสูงระดับดังกล่าวมีอากาศยานหลายลำบินอยู่ จากนั้น 4 นาทีให้หลัง QZ8501 ก็สูญหายไปจากหน้าจอเรดาร์ โดยที่ไม่มีการส่งสัญญาณเหตุด่วนเหตุร้ายแต่อย่างใด
       
       นอกจากนี้ หน่วยค้นหายังได้พยายามหาตำแหน่งห้องโดยสารใหญ่ ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อว่าน่าจะกลายเป็นสุสานของเหยื่อผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
       
       การที่ศพเน่าเปื่อยทำให้การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลกลายเป็นงานที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก ในยามที่ครอบครัวของลูกเรือและผู้โดยสารกำลังรอรับร่างบุคคลอันเป็นที่รักกลับไปฝังตามความเชื่อของศาสนาอิสลามด้วยความสิ้นหวัง เนื่องจากผู้โดยสารและลูกเรือบนเที่ยวบินนี้เป็นชาวอินโดนีเซียแทบจะทุกคน
       
       โมเอลโดโก ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซียระบุว่า “ผมเชื่อว่า ยังมีเหยื่อผู้เสียชีวิตติดอยู่ใน (ห้องโดยสาร) เป็นจำนวนมาก” 


ที่มา : http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000004462
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ผู้ชมหน้านี้ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น