คูซังเหริน คนร้องไห้หน้าศพอาชีพที่อยู่คู่กับสังคมจีนมาอย่างยาวนาน

หู เซียงเหลียน หญิงรับจ้างร้องไห้หน้าศพ - เออฟพี



        (เอเอฟพี ) - หลายท้องถิ่นในเมืองจีนเวลานี้ การจ้างคนร้องไห้หน้าศพ หรือ “คูซังเหริน” ยังเป็นธรรมเนียม ที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ เพื่อสร้างบรรยากาศเศร้าสลดในงานศพให้โศกเศร้าอย่างถึงที่สุด 


ร่วมรับประทานอาหารกับเจ้าภาพก่อนทำหน้าที่ - เอเอฟพี



        ในงานศพของลุงเหลียง จือไฉ ผู้วายปราณไปจากโลกนี้ ขณะอายุ 70 ปีในเมืองฉงชิ่ง หู เซียงเหลียน หญิงวัย 53 ปี เดินคุกเข่าลงเบื้องหน้าศพ มือข้างหนึ่งวางบนโลง ซึ่งทำด้วยโลหะ จากนั้นก็เริ่มร้องไห้คร่ำครวญ เสียงโหยหวนคว้านลึกไปถึงจิตใจของลูกหลานญาติมิตร ที่มาร่วมงาน 
       
       หูทำได้อย่างแนบเนียน ทั้งที่เธอหาได้รู้สึกโศกเศร้าอะไรไม่ แต่มันเป็นเพราะเธอคือคูซังเหรินระดับมืออาชีพคนหนึ่งนั่นเอง 




ลูกหลานนั่งคุกเข่า ขณะหญิงรับจ้างเริ่มร้องไห้ - เอเอฟพี



        อาชีพรับจ้างร้องไห้หน้าศพชวนให้น่าศึกษาว่า ในมหานครทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและผู้คนในเมืองมีวิถีการดำรงชีวิตสมัยใหม่เช่นฉงชิ่ง แต่เหตุใดขนบธรรมเนียมประเพณี ที่มีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษก็ยังคงอยู่
       
       “ ผู้คนในชนบทยังคงแสดงออกให้เห็นว่า มีความเคารพต่อบรรพบุรษ ที่ตายไปอย่างมาก” หูอธิบาย 
       
       เธอมีชื่อในวงการนี้ว่า “ ติง ติง เหมา” ซึ่งมีความหมายว่า มังกรเหิน
       
       เมื่อรับงาน หูจะเดินทางมาพร้อมกับวงมโหรี ซึ่งมีจำนวน 6 คน วงมีชื่อว่า “ วงดนตรีดวงดาวและแม่น้ำแห่งฉงชิ่ง” นอกจากนั้น ยังมีสปอตไลต์หลากหลายสี และระบบเครื่องเสียงเป็นอุปกรณ์เครื่องมือประกอบการแสดงพร้อม
       
       การแสดงเปิดฉากขึ้นภายในเต๊นต์ ซึ่งกางขึ้นชั่วคราวท่ามกลางดงตึกคอนกรีตสูง โลงศพของลุงเหลียงตั้งอยู่ตรงกลาง เบื้องหน้าเป็นแท่นบูชา วางจานผลไม้สำหรับเซ่นดวงวิญญาณ
       
       โดยไม่รอช้า หูตรงเข้าไปหาลูกหลานและญาติมิตรผู้ตายในทันที และสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของผู้ตาย เพื่อให้การแสดงดูสมจริงราวกับว่า เธอรู้จักกับผู้ตายเป็นอย่างดี 


ความโศกเศร้าคร่ำครวญจัดให้เต็มที่ - เอเอฟพี



        หูและคณะร่วมรับประทานข้าวปลาอาหารกับครอบครัวของผู้ตาย จนอิ่มหนำ และล้างปากด้วยเบียร์เสฉวนเปี่ยมสรรพคุณแล้ว จากนั้นก็จัดแจงนำชุดสีขาว ซึ่งเป็นชุดสำหรับไว้ทุกข์ตามประเพณีจีนมาสวมใส่ให้เรียบร้อย
       
       พวกมิตรสหายและเพื่อนบ้านของลุงเหลียงเร่มานั่งรอบ ๆ บางคนควักบุหรี่มาสูบ บางคนพูดคุยกัน ไม่ก็หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมากดเบอร์โทร ส่วนพวกลูกหลานของผู้ตายนั่งคุกเข่าก้มหน้ารอบโลงศพ ดวงตาจับจ้องไปที่หู เมื่อเสียงร้องไห้คร่ำครวญของเธอ แหลมสูงโหยหวน
       
       “ ท่านเจ้าขา ใยจึงจากพวกเราไปเร็วนัก โลกนี้ห่มคลุมด้วยม่านผืนดำ สายน้ำและลำธารก็กำลังร้องไห้สะอึกสะอื้นเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับท่าน …เรื่องราวของชายผู้สัตย์ซื่อ” หูขับขานเพลง เนื้อหาช่างโศกเศร้า 
       
       “ อิฉันหลั่งน้ำตาให้พวกลูกหลานของท่าน เราเสียใจเหลือเกิน ที่ไม่อาจเหนี่ยวรั้งท่านไว้ที่นี่ได้” หูฮัมเพลงไป สะอึกสะอื้นไป
       
       “ นี่คือการกล่าวคำอำลาล่วงลับอย่างไม่มีวันฟื้นกลับ หนทางเบื้องหน้ายากลำบากนัก มรสุมรุมเร้า โปรดรักษาตัวด้วยเถิด” 
       
       ว่าแล้วหูก็ลุกขึ้นเต้นรำอยู่สักครู่ จากนั้น นั่งลงคุกเข่า สักพักก็ล้มนอนคว่ำหน้าร้องไห้ปิ่มว่าหัวใจจะแตกสลายอยู่นานจนเห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว หญิงรับจ้างร้องไห้หน้าศพก็ลุกขึ้นยืน เดินไปจับไม้จับมือกับครอบครัวของลุงเหลียง เห็นได้ชัดว่าลูกหลานของผู้ตายกำลังตื้นตันใจ สะเทือนอารมณ์จากลีลาการแสดงของหู
       
       แต่แล้วจู่ ๆนั้นเอง เหตุการณ์ก็กลับตาลปัตร !
       
       เสียงเพลงยอดฮิตติดอันดับของชาวเมืองฉงชิ่งดังแหวกบรรยากาศ อันแสนเศร้า ตามด้วยเสียงเล่าเรื่องตลกขบขัน และสาวนักเต้นโชว์หน้าท้องในชุดวาบหวิวปรากฏกาย 
       
       หญิงรับจ้างร้องไห้หน้าศพหายไปไหนเสียแล้ว 
       
       หลิน สือชิง ผู้เป็นหลานสาวของลุงเหลียงบอกว่า การแสดงเช่นนี้หาใช่ว่าเป็นการไม่เคารพผู้ตาย แต่การจัดพิธีส่งวิญญาณเป็นช่วงเวลา ที่มีความสำคัญมาก และพิธีก็ต้องมีความครึกครื้น มีชีวิตชีวาประกอบด้วย มิเช่นนั้นลูกหลานจะถูกเพื่อนบ้านมองว่า ไม่เคารพผู้เฒ่าที่จากไป
       
       ด้านสมาคมวัฒนธรรมงานศพของจีนได้อธิบายว่า ลูกหลานของคนตายต้องแสดงความโศกเศร้าอย่างอึกทึกครึกโครม น้ำตาหลั่งนอง ก่อนจะนำศพไปฝัง
       
       “ถ้าลูกหลานร้องไห้ไม่พอ เพื่อนบ้านก็จะมองว่า เป็นลูกหลานไม่กตัญญู” ทางสมาคมระบุในเว็บไซต์ 
       
       ดังนั้น จึงต้องมีการว่าจ้าง “คูซังเหริน” 

รับจ้างร้องไห้หน้าศพ อาชีพอยู่คู่สังคมจีน


ปิดฉากพิธีส่งวิญญาณด้วยสาวนักเต้นโชว์หน้าท้อง- เอเอฟพี



        ด้านหูเองเปิดใจว่า อาชีพของเธอยากลำบากลำบน
       
       “คุณต้องบีบเค้นความเศร้าโศก ความรวดร้าวใจออกมาให้เห็น จัดให้กับครอบครัว ที่เพิ่งสูญเสียบุคคลที่รักไป คุณต้องบังคับควบคุมอารมณ์อย่างมากทีเดียวแหละ” หูเผยเคล็บลับของอาชีพรับจ้างร้องไห้ ที่ยังอยู่คู่กับสังคมจีนมาจนถึงทุกวันนี้ 


ที่มา : http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9540000086114
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ผู้ชมหน้านี้ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น