ชมทิวทัศน์อันสวยงาม ที่ภูทอก อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ


วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก)” อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ น่าจะทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกอยากเข้าวัดมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นอย่างแน่นอน (ปัจจุบัน อ.ศรีวิไล ถูกแยกออกมาจาก จ.หนองคาย แล้วผนวกควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “จ.บึงกาฬ” ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้รับการตั้งขึ้นใหม่เมื่อต้นปี พ.ศ. 2554 แต่ช่วงเวลาในขณะที่ทีมงานไปเก็บข้อมูล “วัดเจติยาคีรีวิหาร” นั้น อ.ศรีวิไล ยังคงขึ้นอยู่กับ จ.หนองคายครับ)




 “ภูทอก” ในภาษาอีสานแปลว่า “ภูเขาที่โดดเดี่ยว” แต่ถึงแม้จะได้ชื่อว่าภูเขาโดดเดี่ยว “ภูทอก” ก็ประกอบไปด้วยภูเขาหินทรายสีน้ำตาลแดงขนาดใหญ่สองลูกเรียงตัวอยู่ใกล้เคียงกัน คือ “ภูทอกใหญ่” และ “ภูทอกน้อย” นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นภูทอกทั้งสองแห่งตั้งอยู่อย่างโดดเด่นได้ตั้งแต่ระยะไกล







บริเวณโดยรอบภูทอกมีทัศนียภาพอันสวยงาม เงียบสงบ รายล้อมไปด้วยป่าทึบซึ่งอุดมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด จวบจนเมื่อปี พ.ศ. 2512 “พระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ” ลูกศิษย์สาย “พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะมหาเถระ” ได้เข้ามาจัดตั้งแหล่งบำเพ็ญเพียรเพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อสร้าง “วัดเจติยาคีรีวิหาร” หรือ “วัดภูทอก” และ “สะพานนรก  สวรรค์” สะพานไม้ที่สร้างเวียนขึ้นสู่ยอด “ภูทอกน้อย” อย่างพิลึกพิลั่นมหัศจรรย์
 



 ชั้นที่ 1 – 2 เป็นเพียงแค่บันไดไม้สู่ชั้นที่ 3 ซึ่งเริ่มมีสะพานเวียนรอบเขา เส้นทางเดินรอบชั้นที่ 3 นี้มีโขดหิน ลานหิน โตรกผา และไม้ยืนต้นขึ้นกางกิ่งใบให้ร่มเงาครึ้ม จากชั้นที่ 3 จะมีทางแยกสองทางโดยทางแยกด้านซ้ายมือจะเป็นบันไดทางลัดไปสู่ชั้นที่ 5 ส่วนทางแยกด้านขวาจะเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4



ชั้นที่ 4 เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา มองลงไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ย ๆ สลับกันเรียกว่า “ดงชมพู” ทิศตะวันออกจรดกับ “ภูลังกา” ในเขต อ.เซกา (เดิม อ.เซกา ถือเป็นส่วนหนึ่งของ จ.หนองคาย แต่ปัจจุบันถูกแบ่งแยกออกมาอยู่ในเขต จ.บึงกาฬ เช่นเดียวกับ อ.ศรีวิไล) บนชั้น 4 นี้เป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร มีจุดให้นั่งพักผ่อนชมทิวทัศน์ระหว่างทางเป็นระยะ ๆ
     ชั้นที่ 5 เป็นที่ตั้งของศาลาและกุฏิพระภิกษุสงฆ์ ตามทางเดินรอบชั้นนี้มีถ้ำตื้น ๆ อยู่หลายถ้ำ มีลานกว้างที่สามารถนั่งพักได้อยู่หลายแห่ง มีหน้าผาซึ่งมีชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ผาเทพนิมิต , ผาเทพสถิต , ผาหัวช้าง เป็นต้น หากเดินไปทางด้านทิศเหนือจะได้เห็นสะพานหินธรรมชาติซึ่งทอดยาวออกไปเชื่อมกับสะพานไม้สู่ “วิหารพระพุทธ” วิหารที่สร้างขึ้นอย่างแปลกประหลาดพิสดารจนดูราวกับมีใครนำหินก้อนใหญ่ไปวางทับไว้บนหลังคาวิหาร วิหารพระพุทธนี้เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและถือเป็นจุดชมทิวทัศน์ซึ่งมีความงดงามมากที่สุดบนภูทอกน้อยเลยทีเดียว (ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมแนะนำว่า “วิหารพระพุทธ” คือ สถานที่ซึ่งทุก ๆ คนที่สู้อุตส่าห์เดินขึ้น “สะพานนรก – สวรรค์” มา ไม่ควรพลาดการแวะเยี่ยมชมอย่างยิ่งครับ)
     จากวิหารพระพุทธจะสามารถมองเห็นแนวของ “ภูทอกใหญ่” ที่วางตัวอยู่ใกล้ ๆ ได้อย่างชัดเจน




ที่มา : http://www.koratclub.com/isan26.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น