คนไทยเจ๋ง! น้ำไผ่สลายนิ่ว ขับพิษ ช่วยหน้าผ่อง


นายคำนึง นวลมณีย์ อายุ 50 ปี เกษตรกรในพื้นที่บ้านท่าคลอง ต.จะโหนง อ.จะนะ จ.สงขลา
ซึ่งทำการเกษตรโดยยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นผู้ที่คิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ภูมิปัญญาชาวบ้านในการนำประโยชน์จากพืชสารพัดชนิดที่ปลูกไว้มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และสร้างรายได้ ซึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก คือ การผลิตน้ำจากต้นไผ่ ซึ่งได้ค้นพบและทดลองทำมากว่า 3 ปี โดยน้ำจากต้นไผ่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดยมีสรรพคุณช่วยขับสารพิษในร่างกาย โดยเฉพาะสลายนิ่ว หรือใช้ดื่มกิน ล้างหน้า และล้างสารพิษตกค้างในผัก


นายคำนึง เล่าถึงเทคนิคการผลิตน้ำจากต้นไผ่ว่า สามารถทำได้กับไผ่ทุกสายพันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป โดยใช้มีดตัดที่ปลายยอดให้เป็นปากฉลามห่างจากข้อไผ่ราว 3-4 นิ้ว แล้วนำถุงพลาสติกมาสวมไว้มัดเชือกให้แน่น แต่ต้องทำในช่วงเวลาประมาณ 01.00 - 03.00 น. เท่านั้น เพราะเป็นช่วงที่ต้นไผ่ดูดน้ำขึ้นมาเก็บไว้ในลำต้นมากที่สุด และไผ่ 1 กอ สามารถตัดเพื่อเอาน้ำได้เพียง 1 ยอด เท่านั้น เพื่อให้ไผ่คายน้ำออกมาได้มากที่สุด เนื่องจากรากของไผ่ทุกต้นในกอเดียวกัน จะเชื่อมต่อกันทั้งหมด ยิ่งไผ่กอใหญ่เท่าไหร่ ก็จะยิ่งให้น้ำไผ่มากขึ้นเท่านั้น


ส่วนการเก็บน้ำไผ่จะเก็บในช่วงเช้าเวลาประมาณ 6-7 โมงเช้า ซึ่งจะได้น้ำไผ่ที่บริสุทธิ์ ซึ่งข้อควรระวังที่สุด คือ ในระหว่างการโน้มกิ่งไผ่เพื่อตัดปลายยอด อย่าให้ลำต้นไผ่แตกอย่างเด็ดขาด เพราะน้ำไผ่จะไม่ไหลออกมาในส่วนที่ตัดไว้ แต่จะไปไหลออกในจุดที่แตกแทน


นายคำนึง เล่าว่า ปริมาณน้ำไผ่แต่ละกอจะได้ประมาณ 1-4 ลิตร ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของกอไผ่ และสภาพอากาศยิ่งชื้นหรือมีฝนตกมากในช่วงหัวค่ำ ไผ่ก็จะคายน้ำออกมามาก โดยที่สวนของตนสามารถทำน้ำไผ่ได้วันละประมาณ 20-30 ลิตร
สำหรับน้ำไผ่ที่ได้จะนำไปดื่มกินในครอบครัว และบางส่วนจะนำไปขายให้กับผู้ที่มาสั่ง โดยราคาอยู่ที่ลิตรละ 50-60 บาท ซึ่งเกษตรกรหรือชาวบ้านที่ปลูกไผ่สามารถนำไปทำได้ ซึ่งข้อดีของน้ำไผ่เหมือนกับน้ำทิพย์ เพราะเป็นน้ำที่บริสุทธิ์มาก และมีคุณสมบัติเด่น คือ ขับสารพิษออกจากร่างกาย โดยเฉพาะโรคนิ่ว หากดื่มน้ำไผ่ติดต่อกัน 1-2 สัปดาห์ ก็จะสลายนิ่วได้ทันที โดยไม่ต้องผ่าตัด


  



ที่มา : http://thainews.prd.go.th/centerweb/news/NewsDetail?NT01_NewsID=WNOHT5710220010001
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต




ผู้ชมหน้านี้ :  

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น