มาเพิ่มความแรงให้โน้ตบุ๊กตัวเก่ากับ SSD 500 GB

ทุกวันนี้หน่วยเก็บข้อมูลบนหน่วยความจำแบบแฟลช หรือจะเรียกว่าเป็นชิปเก็บข้อมูลแบบไร้จานเขียนที่ส่วนใหญ่มาในรูปแบบ Solid-state Drive (SSD) เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมการออกแบบและการผลิตปรับเปลี่ยนไปมากจนทำให้ราคาของ SSD ลดลงจนสามารถจับต้องได้มากขึ้นในขณะที่ประสิทธิภาพกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าสนใจ
       
       มาวันนี้ทีมงานไซเบอร์บิซก็ได้รับ SSD ใหม่ล่าสุดจากซัมซุงในรุ่น 840EVO มาทดสอบประสิทธิภาพให้รับชมกันด้วยจุดเด่น 3 ส่วนก็คือ เป็น SSD ที่ติดตั้งและใช้งานง่าย รวมถึงมาพร้อมเทคโนโลยี TurboWrite และ RAPID Mode ที่ช่วยให้การเขียนข้อมูลลงบน SSD ทำได้รวดเร็วขึ้น
       
       แต่ก่อนจะไปรับชมการทดสอบประสิทธิภาพมาเจาะลึกถึงเรื่องการออกแบบและสเปกของ 840EVO กันก่อน
              
       
  
       ด้านดีไซน์จุดเด่นแรกของ SSD รุ่นนี้คือผลิตโดยซัมซุงเกาหลี น้ำหนัก 53 กรัมพร้อมรับประกัน 3 ปี อีกทั้งวัสดุทั้งหมดเป็นอะลูมิเนียม งานประกอบดีมาก ส่วนจุดเด่นที่สอง 840EVO มาพร้อม Dynamic Thermal Guard protection ที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิขณะ SSD ทำงานโดยอ้างอิงจากสภาพอากาศภายนอก ทำให้ไม่เกิดความเสียหายเมื่อทำงานในอุณหภูมิที่สูงหรือเย็นเกินไป
       
       โดยในส่วนพอร์ตเชื่อมต่อจะเป็น SATA รองรับมาตรฐาน SATA 1.5Gb/s, 3Gb/s และ 6Gb/s ควบคุมการทำงาน Samsung 3-core MEX Controller
       
       

       
       ซึ่งภายในซัมซุงใส่เทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้ถึง 2 ตัวได้แก่ เทคโนโลยีแรก RAPID Mode ที่ซัมซุงเลือกใส่ DRAM LPDDR 2 มาให้ตามความจุเริ่มตั้งแต่ความจุ 120GB มีแรมให้ 256MB ความจุ 250GB กับ 500GB มีแรมให้ 512MB และความจุ 750GB กับ 1TB มีแรมให้ 1GB เพื่อเข้ามาจัดการในเรื่องแคชไฟล์และบัฟเฟอร์โดยเฉพาะ เช่น การบู๊ตระบบปฏิบัติการหรือโหลดฉากในเกมออฟไลน์ 3 มิติบนคอมพิวเตอร์เมื่อใช้งานผ่าน Samsung SSD 840EVO ที่มี DRAM LPDDR2 จะทำให้การบู๊ตระบบและโหลดฉากในเกมทำได้รวดเร็วและลื่นไหลมากกว่า SSD ทั่วไป แถมไม่โหลด SSD ให้อ่านข้อมูลมากเกินไปจนกลายเป็นปัญหาคอขวด
       
       มาถึงเทคโนโลยีที่ 2 ซึ่งเป็นผลมาจาก DRAM LPDDR 2 ที่อยู่ภายใน SSD 840EVO ทำให้เกิดเทคโนโลยี TurboWrite เข้ามาช่วยเวลา SSD เขียนข้อมูลซึ่งความเร็วในการเขียนข้อมูลบน Samsung SSD 840EVO เมื่อทำงานผ่านเทคโนโลยี TurboWrite จะสามารถทำความเร็วในการเขียนข้อมูลสูงสุดตั้งแต่ 410MB/s - 520MB/s (ใช้การเชื่อมต่อผ่าน SATA 6Gb/s) ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะมีบทบาทและช่วยเหลือผู้ใช้จำพวกนักตัดต่อวิดีโอหรือผู้ใช้ที่จำเป็นต้องทำงานประมวลผลไฟล์แบบเรียลไทม์
       
       นอกจากนั้นในส่วนซอฟต์แวร์อย่าง Samsung Data Migration 2.0 ที่ซัมซุงแถมมาให้ก็จะช่วยในการคัดลอกฮาร์ดดิสก์ตัวเก่าและย้ายมา SSD 840EVO ได้อย่างง่ายดายโดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องไปวิ่งหาโปรแกรมโคลนฮาร์ดดิสก์มาใช้งานให้ยุ่งยาก
       
       

       
       มาถึงส่วนสุดท้ายกับซอฟต์แวร์ Samsung Magician ที่ถือเป็นซอฟต์แวร์ที่ผู้ใช้ควรติดตั้งทันทีหลังประกอบ Samsung SSD 840EVO เข้ากับคอมพิวเตอร์เพราะซอฟต์แวร์ตัวนี้จะช่วยเปิดฟีเจอร์เด่นทั้งหมดที่ 840EVO มีให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพรวมถึงมีระบบป้องกันข้อมูลภายในซึ่งรองรับทั้งรูปแบบ AES-256bit, TCG/Opal และ Microsoft Bitlocker สำหรับวินโดวส์
       
       ในส่วนต่อไปทีมงานไซเบอร์บิซจะพาทุกท่านมารับชมการทดสอบประสิทธิภาพของ Samsung SSD 840EVO โดยในครั้งนี้เรามีโจทย์คือ "เราจะนำ SSD 840EVO รุ่นนี้ไปใช้งานกับคอมพิวเตอร์รุ่นเก่า
พร้อมเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุนเดิมกับ SSD รุ่นนี้ รวมถึงนำเสนอวิธีการประกอบ SSD 840EVO เข้ากับคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กรุ่นเก่าที่ผู้ใช้ทุกเพศทุกวัยสามารถทำได้ด้วยตัวเองเพียงไม่กี่ขั้นตอน" วันนี้เราจะมานำเสนอแบบ Step by Step ให้เห็นภาพทุกขั้นตอนเลยครับ
       
       
       
       เริ่มจากการเตรียมความพร้อมกันก่อน สำหรับวันนี้พระเอกของเราก็คือ Samsung SSD 840EVO ความจุ 500GB และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก Acer Aspire One รุ่นปี 2009 ที่ใช้ฮาร์ดดิสก์จานหมุน 5,400 รอบและเชื่อมต่อกับพอร์ต SATA ความเร็ว 1.5Gb/s (สำคัญนะครับสำหรับผู้คิดจะอัปเกรดโน้ตบุ๊กหรือพีซีตั้งโต๊ะต้องมีพอร์ต SATA ถึงจะใช้งานร่วมกับ SSD 840EVO ได้
       
       

       

       
       สองภาพนี้เป็นของพีซีตั้งโต๊ะเพื่อให้เห็นลักษณะของพอร์ต SATA ที่อยู่ติดกับเมนบอร์ดสำหรับพีซีตั้งโต๊ะ ซึ่งถ้าใครมีพอร์ตเชื่อมต่อแบบในภาพด้านบน ส่วนต่อไปอย่าลืมสำรวจพอร์ตจ่ายไฟตามรูปที่สองด้วยว่าที่ตัวจ่ายไฟ (Power Supply) มีหัวพอร์ตดังกล่าวมาให้หรือไม่ ถ้ามีครบทั้ง 2 พอร์ต ขอแสดงความยินดีด้วยคุณได้ไปต่อครับ
       
       

       

       
       จบจากเรื่องของพีซีตั้งโต๊ะ กลับมาที่โน้ตบุ๊กพระเอกของเราวันนี้ ซึ่งขั้นตอนการเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์เป็น SSD จะยุ่งยากกว่าพีซีเล็กน้อย ก่อนอื่นพลิกเครื่องนำส่วนล่างสุดขึ้นมา สำรวจครับว่าด้านล่างของโน้ตบุ๊กมีช่องสำหรับอัปเกรดฮาร์ดดิสก์หรือไม่ (ส่วนใหญ่จะเป็นช่องสีเหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ตามรูปด้านบนพร้อมโลโก้วงกลมซ้อนกันเป็นชั้นเพื่อบอกว่าช่องนี้คือฮาร์ดดิสก์) ถ้าเห็นช่องดังกล่าวให้คุณเตรียมหาไขควงมาไขน็อตยึดออกได้เลย แต่ถ้าคุณผู้อ่านพลิกด้านหลังขึ้นมาแล้วไม่พบช่องอะไรเลย ส่วนนี้ทีมงานต้องแสดงความเสียใจด้วยครับ
       
       

       
       มีเทคนิคเล็กน้อยครับ เวลาถอดน็อตจำนวนมากแล้วกลัวสับสน ให้ลองจัดวางหัวน็อตที่ถอดออกมาให้เป็นรูปตามตำแหน่งที่เราถอดออกไปครับจะช่วยลดอาการสับสนลงได้พอสมควร
       


       
       เมื่อช่องเปิดออก ให้ถอดฮาร์ดดิสก์ภายในออกมา ซึ่งในบางรุ่นอาจเจอกรอบใส่ฮาร์ดดิสก์ตามภาพก็อย่าลืมตรวจเช็คน็อตที่ยึดให้ดีก่อนนะครับ เพราะบางทีถอดน็อตด้านอกออกหมดแล้ว แต่ด้านในยังเหลืออยู่ดันไปดันมาอาจเกิดความเสียหายได้
       
       

       

       
       โชว์หน้าตาฮาร์ดดิสก์ที่ถอดออกมากันก่อน สำหรับฮาร์ดดิสก์ตัวเก่านี้มีความจุ 120GB เป็นฮาร์ดดิสก์จานหมุน 5,400 รอบต่อนาที
       
       

       

       

       
       หน้าตาของ Samsung SSD 840EVO เมื่อใส่เข้าไปในกรอบของฮาร์ดดิสก์ที่โน้ตบุ๊กให้มาพร้อมจัดการขันน็อตใส่กลับเข้าที่ตามเดิม
       
       

       

       
       เมื่อทุกอย่างถูกประกอบเข้าตำแหน่งเดิมทั้งหมด ขั้นตอนต่อไปก็คือเช็คความเรียบร้อยก่อนว่า SSD ติดตั้งสมบูรณ์แล้วโดยเข้าไปที่ BIOS ของเครื่อง จากนั้นถึงเตรียมติดตั้งระบบปฏิบัติการใหม่หมด โดยในบทความนี้ผมเลือกใช้ Windows 7
       
       หลังจากติดตั้งวินโดวส์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนต่อไปก็คือการทดสอบประสิทธิภาพว่าจะมีความแตกต่างจากฮาร์ดดิสก์จานหมุนลูกเก่าตั้งแต่ปี 2009 เพียงใด โดยการทดสอบนี้ผมได้เลือกการบู๊ตวินโดวส์เพื่อเปรียบเทียบกันโดยจับเวลาและทำการบันทึกวิดีโอไว้เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจน
       
       

       
       จากการทดสอบนี้ผมจะเห็นว่า Samsung SSD 840EVO ใช้เวลาบู๊ต Windows 7 เพียง 44.63 วินาที ในขณะที่ฮาร์ดดิสก์จานหมุน 5,400 รอบใช้เวลาถึง 1 นาที 11 วินาทีโดยประมาณ ต่างกันอยู่ 26.37 วินาที
       
       

       

       
       ส่วนเมื่อเทียบเป็นกราฟอัตราความเร็วในการอ่านข้อมูลบน Acer Aspire One ปี 2009 พบว่าความเร็วในการอ่านข้อมูลของฮาร์ดดิสก์จานหมุน 5,400 รอบต่อนาทีอยู่ที่ 44.5 MB/s ที่ค่า Random Access เท่ากับ 24.2ms ส่วน Samsung SSD 840EVO ทำได้ 107MB/s ที่ค่า Random Access เท่ากับ 0.1ms
       
       โดย Samsung SSD 840EVO ทำความเร็วในการอ่านข้อมูลได้ดีกว่าฮาร์ดดิสก์จานหมุนประมาณหนึ่งเท่ากว่าๆ และจากการใช้งานจริง SSD 840EVO อ่านข้อมูลและเขียนข้อมูลได้ลื่นไหลกว่ามาก
       
       

       
       แถมในเรื่องของแบตเตอรีและความร้อนยังช่วยให้เน็ตบุ๊กรุ่นเก่าของทีมงานรุ่นนี้สามารถใช้งานได้นานขึ้นต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง จากปกติใช้งานได้ประมาณ 5 ชั่วโมงปลายๆ แต่เมื่อเปลี่ยนไปใช้ SSD 840EVO สามารถใช้งานได้ยาวนานถึง 6-7 ชั่วโมงสำหรับใช้งานอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อ WiFi เปิดแสงหน้าจอประมาณ 95% ส่วนถ้าเปิด Power Save Mode จะใช้งานได้ยาวนานถึง 8 ชั่วโมงเลยทีเดียว
       
       และอีกส่วนที่น่าสนใจก็คือเรื่องของความร้อนที่ทีมงานแทบไม่รู้สึกตลอดการทดสอบ ต่างจากฮาร์ดดิสก์จานหมุนที่มีทั้งความร้อนและเสียง
       
       ทั้งหมดคือการทดสอบ Samsung SSD 840EVO บนฮาร์ดแวร์รุ่นเก่าเก็บที่แทบจะหาความเร็วไม่ได้ แต่เมื่อทดลองเปลี่ยนมาใช้ Samsung SSD 840EVO แทนฮาร์ดดิสก์จานหมุนที่ติดตั้งมากับเครื่องตั้งแต่ปี 2009 กลับพบว่าโน้ตบุ๊กที่ถูกทิ้งไว้เพราะทำงานเชื่องช้าถูกชุปชีวิตใหม่ให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น แม้แรมจะมีแค่ 900MB (ถูกแชร์ไปใช้ให้การ์ดจอ) แต่สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้นจนปัจจุบันก็อดไม่ได้ที่จะหยิบมาใช้งานอีกครั้ง
       
       นี่ขนาดใช้งานบนฮาร์ดแวร์รุ่นเก่ายังเห็นผลขนาดนี้ ถ้าคุณนำ Samsung SSD 840EVO ไปใช้ร่วมกับฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ ที่รองรับ SATA 6Gb/s คงเห็นผลที่เด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ซัมซุงใส่เข้ามา ทีมงานเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาคอขวดสำหรับการโหลดข้อมูลที่เกิดขึ้นได้แทบจะหมดสิ้น
       
       สำหรับราคา Samsung SSD 840EVO เริ่มต้นตั้งแต่ 3,500 บาท - 20,000 กว่าบาท แน่นอนว่ายิ่งความจุมากเท่าใด แรมในตัวจะมากขึ้นพร้อมประสิทธิภาพที่พุ่งสูงขึ้นตามราคา


ที่มา : http://www.manager.co.th/cBizReview/ViewNews.aspx?NewsID=9560000150423
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น