ภัยใกล้ตัว!! "อาหารกึ่งสำเร็จรูป" โซเดียมทะลุพิกัด เสี่ยงโรคถามหา






อย.สำรวจ "อาหารกึ่งสำเร็จรูป" สุดอึ้งกว่า 80% ปริมาณโซเดียมอื้อ บางรายพุ่งสูงเกิน 3 เท่า เผยรสบาร์บีคิว, พิซซ่าเค็มสุด -หวั่นโรคภัยถามหา เล็งผุดแอฟพลิเคชั่นช่วยตรวจสอบก่อนซื้อ


วันนี้ ( 24 พ.ย.57 ) นายอารยะ โรจนวณิชชากร ที่ปรึกษาหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหัวหน้า โครงการรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมผ่านการอ่านฉลาก เปิดเผยว่า คำแนะนำของนักโภชนาการเกี่ยวกับปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในอาหารที่เป็นมื้อและอาหารว่างควรมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 600 และ 100 มิลลิกรัมตามลำดับ ซึ่งจากการที่ดำเนินโครงการขับเคลื่อนเพื่อ ลดการบริโภคโซเดียมของคนไทยผ่านการอ่านฉลาก ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม



โดยสำรวจและเก็บตัวอย่างอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที จากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ 9 แห่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556-กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อสำรวจสถานการณ์การแสดงฉลากโภชนาการ การกล่าวอ้างทาง โภชนาการและปริมาณโซเดียมบนฉลากอาหารของอาหาร สำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที 23 ประเภท จำนวน 5,853 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ 3,052 ผลิตภัณฑ์และนำเข้าจากต่างประเทศ 2,801 ผลิตภัณฑ์



พบว่า ในส่วนการแสดงปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการ มีการแสดง 3,230 ผลิตภัณฑ์ โดยร้อยละ 58.7 มีปริมาณโซเดียมที่แสดงบนฉลากโภชนาการอยู่ในช่วง 0-100 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของแต่ละผลิตภัณฑ์ไม่เกินค่าที่นักโภชนาการแนะนำ พบใน กลุ่มขนมปังกรอบ แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์มากที่สุด ขณะที่กลุ่มขนมขบเคี้ยว ร้อยละ 48.6 มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 100 มิลลิกรัมที่เป็นค่าแนะนำ



โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมเกินความเหมาะสมส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการปรุงรสทรงเครื่อง รสบาร์บีคิว และรสพิซซ่า ส่วนกลุ่มเครื่องดื่ม ร้อยละ 19.3 มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 100 มิลลิกรัมเกินค่าแนะนำ  และกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 83.2 มีปริมาณโซเดียมมากกว่า 600 มิลลิกรัมซึ่งเกินค่าแนะนำ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กต้มยำ มีปริมาณโซเดียม 2,220 มิลลิกรัมหรือ 55 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค สูงกว่าค่าแนะนำถึง 3 เท่า



นายอารยะกล่าว ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "จากการสำรวจนี้เป็นฐานข้อมูลระดับประเทศที่เครือข่ายลดบริโภคเค็มสามารถนำไปใช้ในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนสู่การปรับลดความเค็มในอาหาร คาดว่าในเร็วๆ นี้อย.จะออกประกาศเรื่องกลุ่มอาหารที่มีความเค็มสูงเพิ่มเติม โดยเพิ่มในส่วนของกลุ่มอาหาร กึ่งสำเร็จรูป คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและกลุ่มขนมขบเคี้ยว นอกจากนี้ จะมีการนำข้อมูลปริมาณโซเดียมใน ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาจัดทำเป็นแอพพลิเคชั่นใช้งานบนสมาร์ทโฟน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ต้องการจะซื้อมีปริมาณโซเดียมเท่าไหร่ จะได้ใช้ประกอบในการตัดสินใจว่าควรริโภคหรือไม่"


โดยก่อนหน้านี้ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกจะกำหนดมาตรฐานการบริโภคเกลืออยู่ที่ไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน และ น้ำตาลไม่เกิน 10 กิโล-กรัมต่อปี แต่ล่าสุดจากการสำรวจ พบว่าคนไทยมีการบริโภคเกลือสูงกว่ามาตรฐานโลกถึง 3 เท่าตัว จากข้อจำกัดที่กำหนดให้เพียงวันละไม่เกิน 1 ช้อนชา แต่ปรากฏว่าคนไทยมีการบริโภคเกลือมากถึง 3 ช้อนชาต่อวัน


เลขาธิการ อย. บอกด้วยว่า อย.มีความห่วงใยในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะผลเสียของการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง จะทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ ทำให้แขนขาบวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ทำให้ความดันโลหิตสูง รวมทั้งเกิดผลเสียต่อไต ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น และไตเสื่อมเร็วขึ้น

ที่มา : http://social.tnews.co.th/content/116933/

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น