ยานลูกฟิเล จากโรเซตตา ลงจอดบนดาวหาง 67P 2 ครั้งซ้อนเพราะฉมวกไม่ทำงาน



นักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งหาสาเหตุที่ทำให้ยานสำรวจขนาดเล็กฟิเล ที่ได้แยกตัวออกจากยานอวกาศโรเซตตา และแล่นลงจอดบนดาวหาง 67P เมื่อคืนนี้ ไม่สามารถลงจอดในครั้งแรกได้สำเร็จ และต้องเปลี่ยนจุดลงจอด ทำให้การลงจอดของฟิเลเกิดขึ้น 2 ครั้งซ้อน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบกับการสำรวจพื้นผิวของดาวหางดังกล่าว

เมื่อคืนที่ผ่านมา ถือเป็นอีก 1 คืน ที่โลกต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เมื่อยานอวกาศโรเซตตา สามารถส่งยานสำรวจขนาดเล็กที่มีชื่อว่า "ฟิเล" แล่นลงจอดบนดาวหาง 67P เชอร์ยูมอฟ เจราซีเมนโก ได้สำเร็จ แต่ในขณะเดียวกัน ทีมนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์จากองค์การอวกาศแห่งยุโรป หรือ ESA ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการสำรวจดาวหางดังกล่าว ยังคงกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง




เนื่องจากมีรายงานว่า ยานสำรวจฟิเล ที่ถูกปล่อยออกจากยานโรเซตตานั้น ต้องลงจอดถึง 2 ครั้ง เนื่องจากเกิดอุปสรรคในการลงจอดครั้งแรก ทำให้มันไม่สามารถทอดสมอเพื่อยึดเกาะกับพื้นผิวของดาวหางได้สำเร็จ จนต้องเปลี่ยนไปลงจอดอีกจุดหนึ่งแทน ซึ่งปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาใหญ่หลวง ที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่เข้าใจ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับยานสำรวจฟิเลกันแน่

เบื้องต้น มีการสันนิษฐานว่า พื้นที่ของดาวหางในบริเวณที่ยานสำรวจฟิเล ลงจอดครั้งแรกนั้น อาจจะอ่อนนุ่มจนเกินไป จนทำให้มันไม่สามารถใช้อุปกรณ์ยึดเกาะพื้นผิวได้สำเร็จ และเลือกที่จะไปลงจอดที่อื่นแทน 

อย่างไรก็ตาม นายสเตฟาน อูลาเมก ผู้อำนวยการด้านการลงจอดของยานสำรวจฟิเล ระบุว่า แม้ว่าจุดที่ฟิเลลงจอดรอบใหม่ จะคลาดเคลื่อนไปจากจุดเดิมที่เคยกำหนดเอาไว้ แต่ทางทีมงานก็หวังว่า ฟิเลจะสามารถปฏิบัติภารกิจต่อไปได้สำเร็จ และการลงจอดที่เคลื่อนไปจากจุดเดิม อาจไม่ส่งผลกระทบกับการทำงานของมันมากนัก

หลังจากนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ของ ESA กำลังรอรับข้อมูลจากฟิเล ซึ่งจะต้องส่งผ่านยานอวกาศโรเซตตาก่อนรอบหนึ่ง ก่อนที่จะส่งกลับมายังโลก ทำให้การสื่อสารระหว่างกันค่อนข้างช้าพอสมควร โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยเวลาในการประมวลข้อมูลทั้งหมดอีกครั้ง และคาดว่าจะเปิดแถลงข่าวถึงความคืบหน้าทั้งหมดได้ ในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. ของคืนนี้ตามเวลาในประเทศไทย

ทั้งนี้ ยานอวกาศโรเซตตา ต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 10 ปี กว่าจะถึงวงโคจรของดาวหาง 67P ผ่านระยะทางกว่า 500 ล้านกิโลเมตร โดยยานดังกล่าวเคลื่อนเข้าสู่วงโคจรของดาวหาง 67P ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะเตรียมตัวในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อแยกยานสำรวจขนาดเล็กฟิเลออกมา และแล่นลงจอดบนดาวหางดังกล่าว

โดยภารกิจของฟิเล ก็คือการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวของดาวหาง 67P และนำวิเคราะห์ส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ข้อมูลที่ได้จากดาวหางดวงนี้ จะช่วยให้มนุษย์มีความเข้าใจถึงการก่อกำเนิดของระบบสุริยะ และการเกิดสิ่งมีชีวิตบนโลกมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นที่นักวิทยาศาสตร์ได้รับก็คือ ดาวหางดวงนี้ ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อ 4,600 ล้านปีก่อน และในอดีตอาจจะเคยมีแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

โดยฟิเล สามารถปฏิบัติภารกิจต่อเนื่องได้นาน 60 ชั่วโมง ก่อนที่แบตเตอรีจะหมด แต่มันสามารถชาร์จพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ ซึ่ง ESA กำหนดให้ฟิเล และยานอวกาศโรเซตตา ปฏิบัติภารกิจเก็บข้อมูลดาวหาง 67P ไปจนถึงเดือนธันวาคมปีหน้า


ภาพถ่ายจากยานไฟลีหลังถูกปล่อยจากยานโรเซตตา








___________________________________________________________________________
ที่มา : http://news.voicetv.co.th/world/132143.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น