5 หลักคิด ก่อน "แชร์" กัน "เงิบ" และเสี่ยง "คุก"


นักวิชาการแนะ 5 หลักคิดก่อน "แชร์" ข่าวสารข้อมูลในโลกโซเชียลฯ เพื่อป้องกันข้อมูลผิดพลาดจนผู้
แชร์ต้อง "เงิบ" และยังไม่ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบจากความมือไวใจเร็ว "ด่วนตัดสิน"
จากกรณีที่ผู้เสียหายรายหนึ่ง ถูกนำภาพถ่ายในเฟซบุ๊คและอินสตาแกรม ไปจับคู่เปรียบเทียบกับภาพผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในคดีลักทรัพย์ โดยระบุว่าเป็นบุคคลเดียวกัน พร้อมแชร์ข้อมูลดังกล่าวบนโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง แม้ภายหลังผู้เผยแพร่ภาพบางรายจะลบโพสต์ดังกล่าวออกและเขียนข้อความขอโทษผู้เสียหาย แต่ก็พบว่ามีผู้เข้าชมไปแล้วมากกว่าพันคน นอกจากนี้ข้อมูลยังได้ถูกแชร์ไปยังผู้ใช้คนอื่นจำนวนมาก จนบุคคลในภาพถ่ายดังกล่าวถูกจดจำรับรู้ในฐานะ "อาชญากร" โดยผู้แชร์ไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขความผิดพลาดได้

ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า 26 ล้านคน ทุกคนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ค ทวิสเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ หรือแอพลิเคชั่นอื่นๆ ผู้ใช้จึงควร "รู้เท่าทันสื่อ" เพื่อไม่ให้เกิดการส่งต่อข่าวสารที่ผิดพลาดจนสร้างความเดือนร้อนให้กับผู้อื่น

ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน แนะ 5 ข้อควรระวังหรือเป็นหลักคิดก่อนแชร์ข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์

"อ่านให้จบก่อนแชร์" ผศ.ดร.วิไลวรรณให้คำแนะนำขั้นต้น ซึ่งการอ่านข้อมูลให้ถี่ถ้วนและจบความเป็นหลักการสำคัญที่สุด ผู้ใช้โซเชียลมีเดียต้องถามตนเองทุกครั้งว่าอ่านข้อความทั้งหมดแล้วหรือยัง ก่อนกดถูกใจหรือแชร์ข้อมูล เพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิด
"บางครั้งแค่เห็นหัวข้อถูกใจ ก็กดแชร์โดยไม่อ่านให้จบ ต้องบอกตัวเองให้ช้านิดนึง เพราะแค่นิ้วจิ้มข้อมูลก็ไปแล้ว" นักวิชาการด้านวารสารศาสตร์ระบุ

"ตรวจสอบที่มา" นี่คือหลักการสำคัญตามมา อย่าเชื่อว่าข้อมูลบนโซเชียลมีเดียจะถูกต้องเสมอ ให้ตรวจสอบก่อนทุกครั้ง "น้อยคนที่ตรวจสอบข้อมูลก่อน พอเห็นว่ามาจากเพื่อนๆ ก็มั่นใจว่าผ่านการกลั่นกรองมาแล้วและแชร์ต่อทันที" ผศ.ดร.วิไลวรรณกล่าวแนะว่า โซเชียลมีเดียมีผลกับผู้คนจำนวนมาก บางครั้งกลุ่มมิจฉาชีพอาจใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวง เช่น การบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย หรือสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมว

"นิสัยคนไทยจะใจอ่อน พอเห็นคนอื่นเดือนร้อนก็จะช่วยเหลือโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลก่อน อย่างกรณีลูกศิษย์อาจารย์ที่ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ พ่อ-แม่เสียชีวิตหมด ส่วนตัวเขาต้องนอนโรงพยาบาล พอเพื่อนๆ โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียก็มีคนมาช่วยบริจาคเงินช่วยเหลือ แค่ 1-2 สัปดาห์ ได้เป็นล้าน" นักวิชาการด้านวารสารศาสตร์สะท้อนจากข้อเท็จจริง

"คิดเยอะๆ ก่อนแชร์" หลักการอีกข้อที่ชวนให้คิดว่าจะกลายเป็นผู้ส่งสารไปยังเครือข่ายเพื่อนในโซเชียลมีเดีย ต่อๆไป หรือเรียกว่า "ไวรัลมาร์เก็ตติ้ง" ที่มีการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วจนก่อให้เกิดกระแสสังคมที่มีทั้งแง่บวกและลบ

"ผลกระทบจากการแชร์" ทุกข้อความและข้อมูลที่แชร์จะส่งผลกระทบในด้านบวกและลบ กรณีที่เรื่องไม่เป็นความจริงอาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก หรือสร้างความเกียดชังในสังคมได้
และหลักการสำคัญข้อสุดท้าย "ตั้งคำถามก่อนแชร์" ผู้ใช้โซเชียลมีเดียต้องรู้เท่าทันสื่อ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่หวังผลประโยชน์แอบแฝง อาทิ การโฆษณาของกลุ่มธุรกิจต่างๆ
"ทุกครั้งที่ใช้โซเชียลมีเดียให้คิดเสมอว่ามีความจริงที่บริสุทธิ์ แบบไม่มีวาระซ้อนเร้นอยู่กี่เปอร์เซ็น" ผศ.ดร.วิไลวรรณให้ความเห็น พร้อมตั้งคำถามกลับไปยังผู้ใช้โซเชียลมีเดีย

นอกจากหลักการสำคัญในยุคโซเชียลจากทางนักวิชาการ การโพสต์ แชร์ หรือการเผยแพร่ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียในปัจจุบันยังถูกควบคุมด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 50) มีหลายมาตราที่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตต้องทำความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนอาจถูกดำเนินคดีได้ เช่น

การกระทำ โพสต์ข้อมูลปลอม ข้อมูลเท็จ หรือให้ข้อมูลเท็จที่จะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ประชาชนตื่นตระหนก โพสต์ข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูล ลามก อนาจาร กรณีทั้งหมดจะผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ที่ระบุไว้ว่า "ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
ส่วนกรณีผู้นิยมกดแชร์ข้อมูลข่าวสารทั้งในไลน์ เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบก่อน หากข้อมูลเป็นเท็จอาจผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อตรวจสอบว่าผิดจริงผู้แชร์ อาจถูกดำเนินคดีถึงขั้นจำคุกหรือปรับอย่างการตัดต่อภาพที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายแล้วนำเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต มีความผิดตามมาตรา 16 ที่ระบุว่า "ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ขณะที่ผู้ให้บริการต้องหมั่นดูแลข้อมูลต่างๆ ที่ผู้อื่นโพสต์ หรือ คอมเม้นไว้ในเว็บไซต์ เพราะอาจมีผู้โพสต์ข้อความ โพสต์รูปที่ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือเนื้อหาพาดพิงสถาบัน ซึ่งหากมีการเพิกเฉยและไม่ลบข้อความดังกล่าว ผู้ดูแลเว็บไซต์อาจผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในมาตรา 15 ข้อหาสนับสนุน ยินยอมให้คนอื่นเผยแพร่ข้อมูลที่กระทบให้ผู้อื่นเดือดร้อน เสียหาย กระทบความมั่นคงของรัฐ

ทั้งหมดนี่คือหลักการสำคัญในยุคโซเชียลฯ ที่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องคิดก่อนแชร์. 


ที่มา : http://news.thaipbs.or.th/
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ผู้ชมหน้านี้ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น