สื่อออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Line, Facebook, Email เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่
เว้นแม้กระทั่งเวลาทำงาน อธิบดีกรมการปกครอง ได้ออกจดหมาย ที่ มท.0304/ว 1515 ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2558 ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อกำหนดแนวทางในการใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารของทางราชการกรมการปกครอง ดังนี้1. ให้บุคลากรกรมการปกครองใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารของทางราชการเพื่อประโยชน์ของทางราชการ โดยยึดถือตามระเบียบแบบแผนของทางราชการโดยเคร่งครัด
2.ห้ามมิให้บุคลากรของกรมการปกครองใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารของทางราชการไปใช้ในทางส่วนตัวที่ใช้โปรแกรม Social media เช่น Facebook, Line, การส่ง Email ที่อาจเข้าข่ายความผิดอาญาหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น รวมถึงการกระทำความผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเด็ดขาด
3.ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นควบคุมดูแลการใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารของทางราชการของบุคลากรกรมการปกครอง ให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดข้างต้นอย่างเคร่งครัด หากมีบุคลากรกระทำความผิด จะถือเป็นความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาด้วย
มีหลายท่านสอบถามมายังทนายคลายทุกข์ว่า ถ้าลูกจ้างแชทหรือเล่นอินเตอร์เน็ตในเวลาทำงานนายจ้างจะไล่ออกจากงานได้หรือไม่ และต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ ทนายคลายทุกข์ขอเรียนว่า นายจ้างไล่ลูกจ้างออกจากงานได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย รายละเอียดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฉบับล่าสุด ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2564/2557
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2557
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 ค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท จ่ายทุกวันที่ 30 ของเดือน มีระยะเวลาทดลองงาน 3 เดือน ในระหว่างระยะเวลาทดลองงานจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ให้มีผลทันที เนื่องจากในเวลาทำงานโจทก์ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยเล่นอินเตอร์เน็ตพูดคุยในเรื่องส่วนตัวและบันทึกข้อความทางอินเตอร์เน็ตเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมงก็มี ตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.6 ถือว่าโจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยไปในเรื่องไม่เกี่ยวกับงาน ทั้งที่อยู่ในระหว่างทดลองงานแทนที่จะทุ่มเททำงานให้จำเลยอย่างเต็มที่ โจทก์ทำงานด้านบัญชีจะต้องมีความละเอียดรอบคอบ มิฉะนั้น จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ กรณีเช่นนี้เป็นการกระทำประการอื่นไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าสินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และการที่โจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยทำในเรื่องส่วนตัวย่อมจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์เช่นกัน
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า การกระทำของโจทก์ไม่ถึงกับเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฎิบัติหน้าที่ของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 เนื่องจากโจทก์มิได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง และจำเลยไม่ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า บทบัญญัติมาตราดังกล่าวระบุเพียงว่า ถ้าลูกจ้างทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต นายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า...เท่านั้น หาได้ขยายความไปถึงกับว่าเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายและเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงแต่อย่างใดไม่ อย่างไรก็ตามข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่าพฤติกรรมของโจทก์ทำให้จำเลยเสียหายได้ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการต่อมาว่า หนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.10 ระบุเหตุเลิกจ้างว่า การปฏิบัติงานของโจทก์ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ...ไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่มอบหมายได้ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง จึงเป็นการกระทำประการอื่นไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 เป็นคำวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่า บทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิได้ห้ามมิให้นายจ้างยกเหตุอื่นขึ้นอ้างในภายหลังนอกจากเหตุที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างมาเป็นข้อต่อสู้ในกรณีเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และการที่โจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง ย่อมเป็นเหตุให้งานในหน้าที่บกพร่องและล่าช้า ต่ำกว่ามาตรฐานที่จำเลยต้องการและไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่มอบหมายได้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต เหตุดังกล่าวก่อให้เกิดผลเชื่อมโยงกัน มิใช่เรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
ที่มา : http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=11142
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต
ผู้ชมหน้านี้ :
0 ความคิดเห็น
เรื่องเด็ด น่าคิด น่าชม ที่ทุกที่ ทุกเวลา เรื่องเด็ด น่าคิด น่าชม ที่ทุกที่ ทุกเวลา 108thinks.blogspot.com