เสมหะในคอ มาจากไหน


สเลด คือ สารคัดหลั่งที่ร่างกายสร้างออกมาจากต่อมสร้างสารคัดหลั่งที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ การ

ที่มีเสมหะหรือสเลดในคอเรื้อรัง อาจเกิดจากโรคหรือภาวะบางอย่าง เช่น 




        1. โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ เนื่องจากเยื่อบุจมูกมีความไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่างๆ จะกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในจมูก ให้มีเสมหะไหลลงคอได้
       
       2. โรคไซนัสอักเสบ เนื่องจากโรคนี้มีการอักเสบของเยื่อบุจมูก และไซนัส ซึ่งจะมีการกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูก ให้มีเสมหะไหลลงคอได้ มักจะมีสีเขียวหรือเหลืองตลอดเวลา บ่งบอกถึงมีการติดเชื้อแบคทีเรีย
       
       3. โรคกรดไหลย้อน เมื่อกรดไหลขึ้นมาที่คอหอยจากหลอดอาหาร จะกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในลำคอให้ทำงานมากขึ้น ทำให้มีเสมหะในลำคอได้ นอกจากนั้นกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาที่คอ จะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุลำคอ และยังทำให้กลไกในการกำจัดเสมหะของเยื่อบุลำคอผิดปกติไป 




        4. การใช้เสียงผิดวิธี เช่น พูดมาก ทำให้ผู้พูดต้องหายใจทั้งทางจมูกและปาก แทนที่จมูกจะช่วยปรับอากาศที่หายใจเข้าไปให้ชื้น และอุ่นขึ้น รวมถึงกรองสารระคายเคืองต่างๆ กลับเป็นว่าปากทำหน้าที่แทน ทำให้อากาศที่ผ่านลำคอ แห้ง และเย็น ร่างกายอาจปรับตัว โดยสร้างเสมหะในคอขึ้นมามากขึ้น เพื่อทำให้ผนังคอชุ่มชื้นขึ้น นอกจากนั้น สารระคายเคืองต่างๆ ในอากาศ อาจเข้าไปสัมผัสกับลำคอโดยตรง และไปกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะให้ทำงานมากขึ้นได้
       
       5. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคหืด โรคทั้งสองดังกล่าวนี้ มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลม ทำให้เยื่อบุหลอดลมของผู้ป่วยโรคนี้มีความไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่างๆ จะกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในเยื่อบุหลอดลม ทำให้มีเสมหะในหลอดลมหรือคอตลอดได้
       
       6. การติดเชื้อเรื้อรัง ระคายเคือง รวมถึงการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณลำคอ เช่น จากเชื้อรา วัณโรค การสัมผัสสารเคมี สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การไอ เนื้องอกในลำคอ อาจกระตุ้นต่อมสร้างเสมหะในคอ ให้ผลิตเสมหะออกมามากกว่าปกติได้
       จากสาเหตุเหล่านี้ที่ทำให้เกิดเสมหะในคอมากมาย การรับประทานยาละลายเสมหะ เป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ ซึ่งยาละลายเสมหะที่ดีที่สุดจริงๆ แล้วคือ น้ำ ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเสมหะในคอ ควรมาพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ จะได้รักษาให้หายขาด



ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000044872
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ผู้ชมหน้านี้ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น