หมอล็อต แนะข้อปฏิบัติ เมื่อเจอช้างป่าบนถนน ย้ำ! ห้ามดับเครื่อง


จากกรณีช้างป่าออกมาทำลายรถยนต์นักท่องเที่ยวบนถนนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จนเป็น
คลิปแชร์ว่อนทางโซเชียล เน็ตเวิร์กในขณะนี้ถึงสองคัน สองเหตุการณ์ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ทำให้หลายๆ คนหวาดระแวงในการขับรถขึ้นเขาใหญ่มากขึ้น ประจวบเหมาะกับก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา นายสัตว์แพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ "หมอล็อต" ได้ออกมาโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Patarapol Lotter Maneeorn ถึงวิธีปฏิบัติเมื่อพบช้างป่าบนถนน ในพื้นที่ อช.เขาใหญ่ ดังนี้

Lotter: Khao yai Only. บ้านใครบ้านมัน เข้าใจตรงกันนะ
วิธีปฏิบัติเมื่อพบช้างป่าบนถนน ในพื้นที่ อช.เขาใหญ่ ขอย้ำครับ ช้างป่าเขาใหญ่เท่านั้น เพราะช้างป่าพฤติกรรมหรือปฎิกิริยาตอบสนองต่อรถที่สัญจรไปมาในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นที่เขาอ่างฤาไน หรือป่าละอู ต้องทำอีกอย่าง มาทำความเข้าใจกันนะครับ....
ทำไมถึงมักเจอช้างบนถนนของเขาใหญ่
- ในอดีตตอนยังไม่มีการสร้างถนนเส้นนี้ ช้างป่าได้ใช้เส้นทางบางส่วนของพื้นที่เป็นเส้นทางเดินหากิน หรือเราเรียกว่า "ด่านช้าง" ซึ่งบรรพบุรุษของช้างได้สอนลูกหลานต่อๆกันมาว่านี้คือเส้นทางหากินของเรา อยู่มาวันหนึ่งมีการสร้างถนนขึ้นมาและบังเอิญไปทับซ้อนกับด่านช้าง ทำให้บางส่วนของถนนนั้นเกิดการใช้ร่วมกันระหว่างช้างและรถยนต์
- ช้างป่าเขาใหญ่ในแต่ละฝูง มีการตกลูกทุกๆปี นั่นหมายถึงว่าในฝูงมีลูกน้อย การเดินหากินในป่าที่รกทึบ หญ้าสูง หรือเขาที่ชัน ของลูกช้างมักมีความยากลำบาก หลายพื้นที่มีลูกช้างป่าพลัดหลงฝูงจากการตกภูเขา และฝูงก็จะห่วงลูกช้างมาก การเดินบนถนนก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ปลอดภัยสำหรับลูกช้าง เดินสะดวก และฝูงช้างป่าจะหวงลูกมากๆ
- พื้นถนนในตอนกลางคืนจะอุ่น เนื่องจากความร้อนสะสมในตอนกลางวัน ในช่วงฤดูหนาว ช้างจะเดินออกมาบนถนนถี่ขึ้น บางครั้งจะเห็นช้างป่านอนหลับบนถนนในช่วงหน้าหนาว นอนบนดินโป่งในช่วงหน้าร้อน
- บริเวณข้างทางของถนน มักมีต้นหญ้าและพื้นขนาดเล็กที่เป็นอาหารของช้าง ช้างสามารถกินได้ง่าย
- เป้าหมายของการใช้ถนนของช้าง คือ การมุ่งหน้าไปยังพื้นที่แหล่งอาหารต่างๆด้วยความปลอดภัยและรวดเร็ว เช่น แหล่งดินโป่ง หรือแหล่งน้ำ

1. หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้เคลื่อนรถหนีด้วยการถอยหลังอย่างมีสติ รอจนกว่าช้างจะหลบจากถนน จึงเคลื่อนรถผ่านไป
2. อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธ และตรงเข้ามาหาเราได้ เนื่องจากช้างป่า ประสาทหูจะดีมาก เสียงแตรแหลมๆจะทำให้ช้างตกใจและโกรธ
3. งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจ ตรงเข้ามาทำร้ายได้ และทำให้ช้างเกิดการสนใจ เดินเข้ามาหา ช้างตกใจแล้ว ตกใจเลย หายยาก
4. ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที และเสียงเครื่องยนต์รถที่ติดเครื่องดังทุ้มๆ จะไม่ทำให้ช้างนั้นตกใจ ไม่เครียด และคุ้นเคย เพราะได้ยินเสียงและรู้ว่านี่คือรถยนต์ เรารู้จักแล้ว ไม่สน กินดีกว่า 55555
5. หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก ห้ามเปิดกระพริบ เพราะแสงจะเข้าตา และดึงดูดให้ช้างเกิดความสนใจ เดินเข้ามาหา
6.ประสาทสัมผัสของช้างที่ดีที่สุดคือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นคือการดม ดู และสัมผัส ซึ่งนั่นหมายถึง ช้างเข้ามาหาคุณแย้ววววว เค้าแค่แตะๆ แต่ด้วยกำลังมหาศาล รถคุณก็บาดเจ็บได้
7. เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟต่ำ และอย่าเปิดกระพริบ แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์ และปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อยๆเคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด
ปล. ไฟสูงเปิดได้ ในกรณีที่เราอยู่ห่างจากช้างป่ามากกว่า 50 เมตรขึ้นไป เพราะจะทำให้ช้างรู้ตัวว่ามีรถมา ไม่ตกใจ และเดินหลบเข้าข้างทาง ถ้าเปิดไฟสูงระยะใกล้กว่านี้แสงจะแยงตา ช้างตกใจได้
8. ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายแทนรถของคุณได้ คนตามหลังซวยเลยครับ
9. สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ความสามัคคีจะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าคันที่อยู่ใกล้ช้างหรืออยู่ไกลช้างก็ล้วนเป็นผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น ดังนั้นหากรถคันหน้าเปิดไปถอยรถ คันข้างหลังถัดไปก็กรุณาถอยรถอย่างมีสติด้วยนะครับ โดนด้วยกันรอดก็ต้องรอดด้วยกัน
10. ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้ เพราะอาจทำให้คุณวิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน ควรระลึกอยู่เสมอๆว่า โดยทั่วไปช้างมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือฝูง ขณะที่คุณเจอช้างเพียงตัวเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีช้างตัวอื่นๆ อยู่ในบริเวณนั้น ฝูงช้างอาจจะกระจายกันหากินอยู่ในบริเวณป่าข้างๆทางนั้นก็เป็นได้ และวินาทีที่เค้าจะเข้ามาหานั้น เร็วมาก
วิธีสังเกตุอารมณ์ของช้างอย่างง่าย ๆ
- เมื่ออารมณ์ดี หูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา
- เมื่ออารมณ์ไม่ดี หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดหาง หางชี้ งวงจะนิ่งแข็ง แตะอยู่ที่พื้น หรือใช้งวงตีพื้น และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา
ปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้น ๆ เพียง 2 - 3 ครั้ง หากวิ่งตามผู้รบกวนไม่ทันก็จะเลิกวิ่งไล่ไปเอง ช้างเมื่ออารมณ์ดี สังเกตจากการแกว่งหู และสะบัดหางไปมา จะไม่ทำร้ายแม้รถจะวิ่งเข้ามาใกล้ก็ตาม
แต่หากช้างโกรธ หรือไม่ไว้ใจสิ่งใด เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน อาจตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนได้ในระยะไกล จึงพึงสังเกตอารมณ์ และอาการของช้างไว้ประกอบการตัดสินใจด้วยครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเกิดเหตุที่รถติดเป็นจำนวนมาก หรือช้างเกิดความเครียด จากการสังเกตุตามข้อแนะนำข้างต้น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ จะมาทำการอารักขา ขอย้ำครับว่า"อารักขาช้างป่า" ไม่ใช่ไล่ช้าง
"เพราะเวลาที่ช้างป่ามาเดินเที่ยวสวนจตุจักร เค้าก็เจอแต่คนเยอะแยะมากมายเช่นกัน"
ภาพจากเฟซบุ๊ค Patarapol Lotter Maneeorn


ที่มา :  http://auto.sanook.com
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ผู้ชมหน้านี้ :

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น