เผยคนไทยขอมีปืนง่ายแค่จ่ายใต้โต๊ะ มท.ชี้ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า6ล้านกระบอก



นักเลงปืนเผยข้อมูลช่องทางลัดขั้นตอน แค่จ่ายใต้โต๊ะ 5,000 – 20,000 บาท เป็น “ค่ากระดาษ” แลกใบอนุญาตครอบครองปืนถูก
กฎหมายได้ง่ายไม่ต้องรอ ขณะสนามยิงปืนกลายเป็นแหล่งปล่อยปืนสวัสดิการราคาถูกจากข้าราชการใช้สิทธิ์ ซื้อถูกมาขายแพง หรือแม้กระทั่ง ปืนเถื่อน ซื้อขายเอิกเกริก ระบุ 1 คน ครอบครองได้หลายกระบอก เพราะกฎหมายเอื้อให้เป็นตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ข้อมูลกระทรวงมหาดไทยชี้ คนไทยมีปืนถูกกฎหมาย 6 ล้านกว่ากระบอก ไม่รวมปืนเถื่อน อีก 5 แสนกว่า หรือ ใน 10 คนมีคนพกปืน 1 คน 
ปัญหาคดีทางอาชญากรรมที่เผยแพร่ในสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง กำลังกลายเป็นปัญหาสังคมสำคัญปัญหาหนึ่งที่หลายฝ่ายให้ความกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน หลายคดีมีสาเหตุเพียงเล็กน้อยแต่การก่อคดีของผู้ต้องหากลับรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อาวุธปืนเป็นเครื่องมือในการกระทำผิด จนทำให้เกิดคำถามในสังคมว่า เหตุใดคนไทยจึงสามารถมีปืนไว้ก่อเหตุ หรือแม้กระทั่งพกไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระมากขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เป็นที่ทราบกันดีว่า กว่าบุคคลคนหนึ่งจะสามารถครอบครองปืนสัก 1 กระบอกได้ ต้องมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เนื่องจากมีกฎหมายที่เข้มงวดคอยตรวจสอบในทุกขั้นตอน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เมื่อลองสืบค้นเข้าไปดูข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับจำนวนการครอบครอง อาวุธปืนของคนไทย  ก็ยิ่งทำให้ตกใจมากขึ้นเมื่อข้อมูลระบุว่า ในปี พ.ศ.2555 มีตัวเลขของผู้ขึ้นทะเบียนอาวุธปืนถูกต้องตามกฏหมายในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น สูงถึงจำนวน  6,221,180 กระบอก แบ่งเป็น อาวุธปืนสั้น 3,744,877 กระบอก และอาวุธปืนยาว จำนวน 2,476,303 กระบอก หรือประมาณเฉลี่ย ทุกๆ 10 คน จะพบคนมีปืน 1 คน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงปืนที่ไม่ได้ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายซึ่งคาดว่าจะมี ไม่ต่ำกว่า 500,000 กระบอก ยิ่งตอกย้ำคำถามเกี่ยวกับขั้นตอนการขออนุญาตครอบครองอาวุธปืนในประเทศไทยว่า แท้จริงแล้วยังคงเข้มงวดและยุ่งยากจริงเหมือนในอดีตหรือไม่ 

ที่ผ่านมา ประเทศไทย มีกฎหมายว่าด้วยการครอบครองอาวุธปืน ที่มีรายละเอียดชี้ชัดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 (พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ) ระบุไว้ว่า การจะเป็นเจ้าของอาวุธปืนหนึ่งกระบอก สิ่งแรกที่จำเป็นต้องมีคือใบอนุญาตให้ซื้อปืน หรือ ใบ ป.3 โดยยื่นคำร้องขออนุญาต ซื้อต่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ปกครอง นายอำเภอ พร้อมเอกสารหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน และใบรับรองความประพฤติ ที่ผ่านการรับรองจากกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

จากนั้นผู้ขอจะต้องนำใบ ป.3 ไปแสดงเพื่อซื้อปืนกับร้านที่ได้รับอนุญาตจัดจำหน่ายอย่างถูกต้อง เพื่อให้ทางร้านดำเนินการตัดโอนอาวุธปืนออกจากการครอบครองของร้าน ออกเป็นใบคู่ปืน และนำไปขึ้นใบทะเบียนปืนที่ระบุชื่อผู้ครอบครอง หรือ ใบ ป.4 เป็นอันสิ้นสุดขั้นตอนทั้งหมด ผู้ซื้อก็จะได้เป็นเจ้าของปืนอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

ถือเป็นขั้นตอนตามปกติที่ผู้ต้องการมีปืนจะต้องปฏิบัติ ซึ่งจะต้องใช้เวลาและการดำเนินการพอสมควรกว่าจะเป็นเจ้าของอาวุธร้ายแรงชนิดนี้


จ่ายหมื่นบาทแลกใบอนุญาต
เพราะคำถามที่เกิดขึ้นดังกล่าว TCIJ  จึงลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายปืนในปัจจุบัน โดยได้พบกับนายเอและนายบีเป็นพลเรือนที่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองอย่างถูก ต้องตามกฏหมาย และยินดีให้ข้อมูล โดยทั้งคู่อธิบายถึงวิธีการครอบครองอาวุธปืนว่า ปัจจุบันขั้นตอนการซื้ออาวุธปืนไม่ได้ยุ่งยากเหมือนที่ระบุไว้ในพ.ร.บ.อาวุธ ปืนฯ อีกต่อไปแล้ว เพราะในความเป็นจริง  ผู้ที่อยากจะมีปืนเป็นของตัวเอง เพียงแค่มีเงินและเส้นสายในระบบราชการก็สามารถมีใบอนุญาตซื้อและครอบครอง อาวุธปืนได้อย่างง่ายดาย โดยได้ยกตัวอย่างกรณีของตนเองให้ฟัง
นายเอ เล่าว่า ด้วยความที่ครอบครัวของเขาสนิทสนมกับบุคคลในส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการ ออกใบอนุญาตเพื่อซื้อและครอบครองอาวุธปืน  เมื่อต้องการจะครอบครองปืน เขาสามารถที่จะมอบของที่ระลึกเป็นสินน้ำใจตอบแทน เพื่อขอให้บุคคลที่สามารถอำนวยความสะดวกเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตซื้อและมี อาวุธปืนไว้ในครอบครองให้ โดยเรียกของที่ระลึก หรือสินน้ำใจนั้นว่า “ค่ากระดาษ” โดยนายเอ ระบุว่า หากไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว อัตราสินน้ำใจ ‘ค่ากระดาษ’ จะอยู่ที่ประมาณ 5,000-20,000 บาท ตามแต่จะถูกร้องขอ
“5,000 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ถูกมาก ส่วนใหญ่เขาจ่ายกันเป็นหมื่น เพราะเจ้าหน้าที่มีดุลพินิจตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย ถ้าเขาไม่ให้ เราก็มีปืนอย่างถูกกฏหมายไม่ได้ เว้นแต่เสียจะไปหาปืนเถื่อน ซึ่งก็เสี่ยงมากหากถูกตรวจพบ” นายเอระบุ ซึ่งหากพิจารณาตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ  ระบุว่า ในการขอใบอนุญาตจะมีค่าธรรมเนียมตามจริงอยู่ที่ 1-10 บาท เท่านั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของปืนที่ต้องการซื้อ


________________________________________________________________________________
ที่มา : http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5061
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น