10ปีสึนามิ-ทำไม382ศพไม่ได้กลับบ้าน?

ร่างเหยื่อสึนามิ382ศพจาก19ชาติยังเคว้ง ไม่มีญาติมาติดต่อขอรับกลับไปบำเพ็ญกุศลทางศาสนา ขณะที่หน่วยงานรับผิดชอบปิดตัวลง เจ้าหน้าที่แยกย้ายไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว ปล่อยร่างทิ้งไว้ราวกับศพไร้ญาติ มูลนิธิกระจกเงาระบุ รัฐน่าจะตรวจสอบได้และแจ้งญาตให้ดำเนินการตามขั้นตอน ด้านจนท.มูลนิธิการกุศลที่ดูแลสุสานไม้ขาว เผยทุก10ปีจะมีการล้างป่าช้าอาจทำให้ศพสูญหายไปได้

เช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 คลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มชายฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5,309 คน สูญหายประมาณ 3,370 คน ผ่านมา 10 ปีเต็มในปีนี้ หน่วยงานต่างๆ ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบและทำงานดูแลศพ พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลถูกปิดลง เพราะไม่มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่ ขณะที่ศพผู้เสียชีวิตอีก 382 ศพ จาก 19 ชาติ ยังถูกฝังไว้ราวกับศพไร้ญาติ




TCIJ เริ่มต้นตามรอยผู้เสียชีวิตจาก สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ขอทราบข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ได้ส่งกลับบ้านเพื่อให้ญาติบำเพ็ญกุศลทางศาสนา เจ้าหน้าสถาบันนิติเวชติดต่อกลับมาสองวันหลังจากนั้นพร้อมให้คำตอบว่า ทางสถาบันฯ ไม่มีข้อมูลดังกล่าว ขอให้ติดต่อไปที่หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

TCIJ ตามเรื่องต่อไป โดยติดต่อไปยัง สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สองสัปดาห์ให้หลัง ได้รับการติดต่อกลับมาว่า ข้อมูลทั้งหมดส่งไปยังหน่วยงานในส่วนภูมิภาค หากต้องการทราบรายละเอียด กรุณาตามเรื่องไปยังสถานีตำรวจ ณ จุดเกิดเหตุของจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่จ.พังงา ภูเก็ต กระบี่ ระนอง





จากนั้น TCIJ ได้รับการติดต่อกลับในวันเดียวกันจาก กลุ่มงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พ.ต.อ.ยุทธพงษ์ อินทรพงษ์ ผู้กำกับการกลุ่มงานพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล เปิดเผยข้อมูลกับ TCIJ ว่า ปัจจุบันมียังมีจำนวนศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ จำนวนทั้งสิ้น 382 ราย จาก 19 ประเทศ

จึงมีคำถามว่า เพราะเหตุใดผ่านมานานถึง 10 ปีเต็ม ทางการไทยจึงยังไม่สามารถดำเนินการส่งศพผู้เสียชีวิตให้กับครอบครัวเพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนาได้ พ.ต.อ.ยุทธพงษ์ให้คำตอบว่า เมื่อไม่มีญาติมาติดต่อขอรับศพ ทางหน่วยงานจึงไม่สามารถดำเนินการโดยพลการได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการในเรื่องนี้เมื่อ 10 ปีก่อน ต่างแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนอื่นกันหมดแล้ว จึงไม่มีข้อมูลมากกว่าที่ให้กับ TCIJ ได้




ต่อมา TCIJ ติดต่อไปยัง นายธนพล ทรงพุฒิ หัวหน้าโครงการพัฒนาจัดการภัยพิบัติภาคประชาชน มูลนิธิกระจกเงา หนึ่งในชุดปฏิบัติงานจัดการเก็บหลักฐานผู้เสียชีวิตจากคลื่นยักษ์สึนามิ ที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่หลังเกิดเหตุเป็นชุดแรก ๆ กล่าวตอบด้วยความตกใจ เมื่อทราบข้อมูลจาก TCIJ ว่ายังมีศพที่ตกค้างอยู่มากถึง 382 ศพ ที่พิสูจน์เอกลักษณ์จนทราบสัญชาติแล้ว แต่ไม่สามารถส่งกลับภูมิลำเนาได้ เพราะไม่มีญาติมาติดต่อขอเข้ารับ





นายธนพลกล่าวว่า หากจะส่งกลับจริงๆ ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหากพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้ถึงขั้นทราบสัญชาติแล้ว จะดำเนินการต่อถึงขั้นส่งกลับประเทศย่อมเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะมีบันทึกการเดินทางเข้า-ออก ของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ หรืออาจตรวจจากการต่อขาดต่ออายุหนังสือหนังสือเดินทางก็ได้

ความล่าช้าและขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการส่งศพผู้เสียชีวิตกลับประเทศ เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่ตรึงร่างไร้วิญาญเหล่านี้ไว้ราวกับเป็นศพไร้ญาติ

อดีตผู้ปฏิบัติงานเก็บหลักฐานผู้เสียชีวิต อธิบายถึงขั้นตอนการติดต่อขอรับร่างผู้เสียชีวิตกรณีที่เป็นชาวต่างชาติว่า เริ่มจากญาติผู้เสียชีวิตต้องแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจภายในประเทศของตนเอง จากนั้นเรื่องจะถูกส่งต่อไปยังกระทรวงต่างประเทศ เพื่อติดต่อมายังประเทศไทย ก่อนจะประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งในแต่ละขั้นตอนคาดว่าใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 90 วัน



ขณะที่ศูนย์พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการส่งกลับผู้ประสบพิบัติภัยสึนามิ (Thai Tsunami Victim Identification : TTVI) ปัจจุบัน ที่เดิมถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานหลัก นำส่งร่างผู้เสียชีวิตกลับภูมิลำเนา ต้องปิดตัวลงเนื่องจากขาดงบประมาณและบุคลากร ประกอบกับปัญหาทุจริตเงินเดือนเจ้าหน้าที่เมื่อปี 2552 ทำให้เจ้าหน้าที่ทะยอยลาออกจนหมดศูนย์ฯ งานดังกล่าวจึงไม่มีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน

ส่วนสภาพปัจจุบันที่สุสานไม้ขาว จ.ภูเก็ต ร่างผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ จากที่ต่างๆ ถูกทำมาฝังรวมกันไว้ที่นั่น เจ้าหน้าที่มูลนิธิกุศลธรรม ภูเก็ต รายหนึ่งกล่าวว่า ศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์คลื่ยนักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 ที่ไม่สามารถส่งกลับได้กว่าสี่ร้อยศพ ถูกย้ายจากที่จ.พังงา นำมารวมฝังไว้ที่สุสานไม้ขาวทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2548 และจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับการติดต่อจากทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ขุดศพขึ้นมาเพื่อนำส่งให้ญาติหรือตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ แสดงความกังวลกับ TCIJ ก็คือ ทุก 10 ปี จะมีพิธีล้างป่าช้า ขุดศพไร้ญาติขึ้นมาทำพิธีทางศาสนา เพิ่มที่ว่างในสุสานให้ศพไร้ญาติรายใหม่ ซึ่งนั่นหมายถึง ร่างไร้วิญญาณที่รอวันกลับบ้านเหล่านี้ อาจเหลือเพียงธุลีแห่งความทรงจำ ตอกย้ำความไร้ประสิทธิภาพของระบบการนำส่งร่างผู้เสียชีวิต
______________________________________________________________________
ที่มา : http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4993
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

แสดงความคิดเห็น

1 ความคิดเห็น

เรื่องเด็ด น่าคิด น่าชม ที่ทุกที่ ทุกเวลา เรื่องเด็ด น่าคิด น่าชม ที่ทุกที่ ทุกเวลา 108thinks.blogspot.com