เทียบปริศนาเที่ยวบิน MH370 กับเครื่องบินแอร์ฟรานซ์

ช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังจากเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีอาร์ ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินเอ็มเอช 370 สูญหายไปจากจอเรดาร์ได้ผ่านไปอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยปริศนาที่ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบินต้องขบคิดกันต่อไปว่า เครื่องบินที่ทันสมัยและน่าเชื่อถือได้มากที่สุดแบบหนึ่งของโลก
สูญหายไปจากจอเรดาร์ เหนือทะเลอ่าวไทยได้อย่างไร และชะตาชีวิตผู้โดยสารพร้อมลูกเรือรวม 239 คนเป็นเช่นใด



ในทางเทคนิคนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้เลยว่า เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีอาร์ ขนาดความยาว 63.7 เมตร กว้าง(จากปลายปีกถึงปลายปีก) 60.9 เมตร ที่เป็นเครื่องบินสองเครื่องยนต์ยุคใหม่ที่สามารถทำการบินข้ามมหาสมุทร จะขาดการติดต่อกับภาคพื้นดิน เพราะบนตัวเครื่องมีอุปกรณ์การสื่อสารยุคใหม่ครบครัน ทั้งระบบสื่อสารทางวิทยุความถี่เพื่อใช้ติดต่อกับหอบังคับการบินภาคพื้นดิน ระบบส่งสัญญาณวิทยุบอกตำแหน่งเครื่องบินโดยอัตโนมัติเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกันระหว่างทำการบิน ระบบระบุพิกัดผ่านดาวเทียม (จีพีเอส) และระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติที่ทำการสื่อสารกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องอยู่ตอดเวลา
บนเครื่องบินรุ่นนี้มีการติดตั้งระบบสื่อสาร ที่เรียกว่า "ระบบสื่อสารและรายงานสถานะอากาศยาน" (Aircraft Communications and Reporting System) หรือ เอซีอาร์เอส มูลค่ากว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระบบคอมพิวเตอร์ของเครื่องเพื่อบอกสถานะต่างๆ ของเครื่องบิน ทั้งความเร็ว ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง การทำงานของเครื่องยนต์ โดยอัตโนมัติ ซึ่งหากมีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นกับการทำงานของระบบใดบนเครื่อง เอซีอาร์เอสจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนสายการบินต้นสังกัดโดยอัตโนมัติ

แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 24 ชั่วโมงแล้ว นับจากเวลา 01.30 น. วันเสาร์ (8 มี.ค.) ที่มีการติดต่อกับเครื่องบินลำนี้ที่ขึ้นบินจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ไปยังกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ทำให้สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์เชื่อว่าจะต้องเกิดเหตุร้ายแรงที่สุดกับเครื่องบินอายุ 11 ปีลำนี้ โดยประเมินว่า เครื่องลำนี้จะตกลงนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของเวียดนาม
บนเครื่องบินลำนี้ยังมีผู้โดยสาร 2 คนที่เดินทางโดยใช้พาสปอร์ตที่ขโมยมาจากเจ้าของตัวจริงอีกด้วย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เครื่องบินลำนี้ที่มุ่งหน้าไปยังกรุงปักกิ่ง อาจจะเป็นเหยื่อของการก่อวินาศกรรม อย่างไรก็ดี นับเนื่องมากว่า 24 ชั่วโมงแล้ว ก็ไม่มีกลุ่มหรือผู้ใดแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ประเด็นการก่อการร้ายก็เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะละเว้นไม่ได้ เนื่องจากในช่วงไม่นานมานี้มีการแสดงพลังของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนซินเกียงออกจากจีน ดังเช่นเหตุการที่มีรถยนต์พุ่งชนนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่จีนในบริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมินก่อนเกิดไฟไหม้รถและคนขับเสียชีวิตคารถ รวมทั้งเหตุชายฉกรรจ์ถือมีดไล่สังหารประชาชนในสถานีรถไฟเมืองคุนหมิงจนมีผู้เสียชีวิต 29 คน เมื่อเร็วๆ นี้

เครื่องบินลำนี้ยังเป็นปริศนาว่าสูญหายไปจากจอเรดาร์ได้อย่างไร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญอย่าง นายพอล เฮยส์ ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยแห่งบริษัทไฟลท์ โกลบอล แอสเซนท์ ที่ปรึกษาด้านการบินแห่งอังกฤษ ให้ความเห็นว่า "เครื่องบินจะไม่ตกระหว่างการเดินทางเช่นนี้ และสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องประหลาดที่ยากจะเกิดขึ้น" สอดคล้องกับความเห็นของนายริชาร์ด เควสท์ ผู้สื่อข่าวสายการบินแห่งสถานีโทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็น ที่ให้ความเห็นว่า "เครื่องบินจะไม่ร่วงลงมาจากอากาศระหว่างที่บินอยู่บนความสูง 36,000 ฟุต"
แต่เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับเครื่องบินแอร์บัส เอ 330-200 ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบินเอเอฟ 447ที่ทำการบินจากนครริโอ เดอ จาเนโร บราซิล ไปยังกรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อปี 2552 โดยเครื่องบินของแอร์ฟรานซ์เกิดสูญหายไปจากจอเรดาร์ระหว่างทำการบินเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งทีมค้นหาต้องใช้เวลากว่า 2 ปี ถึงจะพบซากของเครื่องบินลำนี้


เครื่องบินแอร์บัส เอ 330-200 ของสายการบินแอร์ฟรานซ์



ทีมสืบสวนสอบสวนเหตุเครื่องบินแอร์ฟรานซ์ตก สามารถสรุปรายงานอุบัติเหตุหลังจากพบกล่องดำที่บันทึกข้อมูลสถานะการบินในช่วง 30 นาทีก่อนเครื่องบินตกว่า เกิดจากความผิดพลาดของนักบินที่ไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาทางเทคนิคได้อย่างถูกต้อง
ขณะที่กฎขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ระบุว่า รัฐบาลของประเทศที่เป็นเจ้าของพื้นที่เครื่องบินตกจะเป็นผู้นำในการสอบสวนหาสาเหตุของเครื่องบินตก จึงต้องรอให้มีการพบซากเครื่องบินมาเลเซียก่อนจึงจะระบุได้ว่าประเทศใดจะเป็นผู้นำการสอบสวนหาสาเหตุลึกลับในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่าพื้นที่เครื่องบินตกจะอยู่ในเขตประเทศเวียดนาม ซึ่งจะทำให้เวียดนามเป็นประเทศผู้นำการสอบสวน แต่หากเครื่องตกในพื้นที่น่านน้ำสากล มาเลเซีย ประเทศต้นสังกัดของสายการบินจะเป็นผู้นำการสอบสวนในทันที ขณะเดียวกันในกรณีนี้ สหรัฐอเมริกาจะมีส่วนร่วมในการสอบสวนด้วยโดยอัตโนมัติ เนื่องจากเครื่องบินโบอิ้ง ประกอบในสหรัฐอเมริกา

ส่วนประเด็นความเป็นไปได้ที่ทำให้เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีอาร์ ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์หายไปจากจอเรดาร์นั้น มีอยู่ด้วยกันหลายประการ โดยอาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ร้ายแรงจนกัปตันและนักบินไม่สามารถตอบสนองได้ในทันที เช่น การที่ชิ้นส่วนเครื่องบินหลุด แตกออกจากลำตัว เครื่องยนต์เสียหายรุนแรง หรือหลุดออกจากปีก จนทำให้เครื่องไม่สามารถทรงตัวในอากาศและดิ่งลงมายังท้องน้ำ อันเกิดจากความบกพร่องของวัสดุหรือการก่อการร้าย

รวมทั้งสภาพอากาศที่เลวร้าย แม้เครื่องบินรุ่นนี้จะได้รับการออกแบบให้ทนต่อสภาพอากาศที่เลวร้ายและรุนแรงระหว่างทำการบิน แต่ในอดีตที่ผ่านมาก็เคยพบว่า สภาพอากาศทำให้เครื่องบินตกมาแล้ว ความเป็นไปได้อีกประการหนึ่ง คือ กรณีที่เครื่องยนต์ทั้งสองหยุดทำงานเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 สายการบินบริติชแอร์เวย์ ที่ร่วงลงสู่พื้นดินระหว่างร่อนลงยังสนามบินฮีโธรว์ ในกรุงลอนดอน เมื่อปี 2551 เนื่องจากเครื่องยนต์ทั้งสองไม่ตอบสนองต่อคำสั่งจากห้องนักบิน แต่ในครั้งนั้นเครื่องบินยังสามารถร่อนในอากาศได้นานถึง 20 นาที

ความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งคือ ความบกพร่องและความผิดปกติของนักบิน รวมไปถึงการตั้งใจฆ่าตัวตายของนักบิน ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

ทุกอย่างเกี่ยวกับเที่ยวบิน เอ็มเอช 370 ยังคงเป็นปริศนา ที่รอคอยการเปิดเผยเมื่อมีการพบซากเครื่องบินและกล่องดำที่จะช่วยเปิดเผยความลับในช่วงเวลาวิกฤติที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินลำนี้พร้อมชีวิตผู้โดยสารอีก 239 คน

เผยเหตุเครื่องบินแอร์ฟรานซ์ตก
กว่า 2 ปีที่ทีมค้นหาเครื่องบินแอร์บัส เอ 330-200 ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบินเอเอฟ 447 ทุ่มเทเวลาค้นหาซากเครื่องบินที่หายไปในมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 เพื่อไขความลับที่ดำมืดเกี่ยวกับการสูญหายไปจากจอเรดาร์อย่างผิดปกติของเครื่องบินลำนี้ ระหว่างที่ทำการบินจากนครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ไปยังสนามบินชาร์ลส์ เดอ โกล ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เครื่องบินแอร์บัส เอ 330-200 ก็นับเป็นหนึ่งในเครื่องบินที่ทันสมัยที่สุดในโลก มีอุปกรณ์ช่วยในการทำการบินและความปลอดภัยรวมทั้งระบบสื่อสารที่ครบครัน แต่ในวันเกิดเหตุเครื่องบินลำนี้กลับขาดหายไปจากจอเรดาร์ และไม่มีผู้ใดสามารถติดต่อได้กับเครื่องบินลำนี้

แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างไปจากกรณีของเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีอาร์ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินเอ็มเอช 370 ประการหนึ่งคือ ระบบเอซีเออาร์เอส ของเครื่องแอร์บัส เอ 330-200 ของสายการบินฝรั่งเศสส่งข้อความระบุว่าระบบของเครื่องบินทำงานล้มเหลว และ มีการลดระดับการทำงานลง ทำให้เกิดปริศนาขึ้นในโลกการบินถึงสาเหตุของการสูญหายของเครื่องบินลำนี้พร้อมกับผู้โดยสารและลูกเรือ 228 คน

จนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ทีมค้นหาสามารถกู้กล่องดำบันทึกข้อมูลการบินของเครื่องบินฝรั่งเศสขึ้นมาจากพื้นท้องทะเลได้ ทำให้เริ่มมีความหวังว่าการไขปริศนาของเที่ยวบิน เอเอฟ 447 จะเป็นไปได้หลังจากมีการเปิดกล่องดำเพื่อดึงข้อมูลการบินออกมา

สิ่งที่ทุกคนรอคอยก็ปรากฏขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2555 เมื่อทีมสอบสวนเปิดเผยรายงานผลการสอบสวนสาเหตุของเครื่องบินแอร์บัสเอ 330-200 ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ตกในมหาสมุทรแอตแลนติกว่ามาจากความผิดพลาดของระบบบนเครื่องบินที่ส่งสัญญาณเตือนไปยังนักบิน และนักบินไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงและแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง จึงทำให้เครื่องบินลำนี้ดิ่งลงยังท้องทะเลพร้อมชีวิตผู้โดยสารทั้งหมด
สำนักงานสอบสวนแห่งฝรั่งเศสรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยในรายงานระบุว่า นักบินไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินได้อย่างถูกต้อง โดยเซ็นเซอร์ที่ตรวจจับอากาศเพื่อระบุความเร็วของเครื่องบิน และ ทิศทางการก้ม-เงยของเครื่องบินแสดงผลผิดพลาด

สาเหตุเกิดขึ้นมาจากการที่มีเกล็ดน้ำแข็งเกาะในท่อปิโต (Pitot) ที่ติดตั้งเซ็นเซอร์เหล่านั้น ทำให้เซ็นเซอร์ส่งข้อมูลที่ผิดพลาดไปยังระบบนักบินกล (Autopilot) ทำให้ระบบนักบินกลตัดการทำงานและนักบินก็ไม่ทราบถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และมีการตอบสนองโดยการเชิดหัวเครื่องบินขึ้นนานหลายนาที เพื่อรักษาระดับความสูงไว้

แต่มุมที่นักบินทำการเชิดหัวเครื่องขึ้นสูงเกินกว่ากำลังของเครื่องยนต์ ที่จะผลักดันไปได้ จนเกิดภาวะร่วงหล่น (Stall) ในที่สุด โดยระหว่างที่นักบินทำการเชิดหัวเครื่องขึ้นนั้นระบบคอมพิวเตอร์ที่ตรวจจับภาวะร่วงหล่นได้ส่งเสียงเตือนนักบินอยู่ตลอดเวลา แต่นักบินก็ละเลยเสียงเตือนนั้นจนทำให้กำลังขับของเครื่องยนต์กับมุมเงยของเครื่องบินไม่สมดุล ทำให้เครื่องแอร์บัส เอ 330-200 ดิ่งลงจากความสูง 36,000 ฟุตสู่ท้องมหาสมุทรในที่สุด


เพิ่มเติม ครับ จากรูปนี้ จะเห็นหลักการทำงานของ "กล่องดำ" 
กล่อง ดำนอกจากจะออกแบบให้ติดตั้งในจุดที่ได้รับความเสียหายน้อยแล้ว ยังออกแบบให้ทนต่อแรงกระแทก ความร้อน และกันน้ำ เพื่อกันข้อมูลที่บันทึกเสียหาย เพราะเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะทำให้ทราบถึงสาเหตุการตกของเครื่อง Air France flight AF 447 

______________________________________________________________________
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/world/20140310/567693/เทียบปริศนาMH370-กับเครื่องบินแอร์ฟรานซ์.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

แสดงความคิดเห็น

1 ความคิดเห็น

เรื่องเด็ด น่าคิด น่าชม ที่ทุกที่ ทุกเวลา เรื่องเด็ด น่าคิด น่าชม ที่ทุกที่ ทุกเวลา 108thinks.blogspot.com