ลดดอกเบี้ย!! ใครได้ใครเสียรอบนี้

หากนึกถึงเศรษฐกิจไทยนั้น ปีนี้ตกต่ำ ย่ำแย่ อย่างไม่ต้องสงสัย และไม่ต้องอาศัยตำราเศรษฐศาสตร์ หรือคำทำนายสำนักไหนๆ ทุกคนรับรู้ได้ตั้งแต่เกิดเหตุประท้วงทางการเมือง หลายคนคิดว่าเดี๋ยวก็ผ่านพ้นไปไม่ต่างกับการชุมนุมในครั้งก่อนๆ แต่ที่ไม่เหมือนคือ เศรษฐกิจตกต่ำกว่าครั้งก่อนอย่างเห็นได้ชัด และเป็นเช่นนี้มา 4 เดือนแล้ว

เศรษฐกิจไร้ปัจจัยหนุนให้ดีขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดลง ที่สำคัญการไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่งผลให้ไม่เกิดการลงทุนภาครัฐ ที่ปกติ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก
80410231
ล่าสุดธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ฟันธงว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกติดลบ 1.6%  และหดตัว 0.3% ในไตรมาส 2 และที่เลวร้าย คือ จีดีพีปี 2557 จะลดลง 1% แต่หากโชคดีจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จภายในไตรมาส 3 จะฟื้นความเชื่อมั่นให้ต่างประเทศกลับมาลงทุน และเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้นได้ แต่ทุกคนก็เห็นแล้วว่า ปัญหาการเมืองจบยากขณะนี้สิ่งที่คาดหวังและพอเหลือช่วยปั๊มลมหายใจเมืองไทยอยู่ก็คือ มาตรการทางการเงิน หรือ ” ดอกเบี้ย” นั่นเอง
ทุกสำนักจึงจับจ้องที่ กนง.หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของแบงก์ชาติ ซึ่งจะประชุมในวันที่ 12 มี.ค.นี้ ลองมาวัดใจ กนง. กันว่าจะลด หรือจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ แต่เพิ่มไม่มีทางแน่นอน ซึ่งดอกเบี้ยมาตรฐานอยู่ที่ 2.25% ลดอีกจะเหลือ 2.00% ตรงกับที่ซีไอเอ็มบี ไทย เล็งไว้
Interest rate
ฝ่ายที่มองว่า คงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิม เพราะมีเหตุผลจากค่าเงินบาท ด้วยปัจจัยการเมืองกดดันให้เงินทุนต่างชาติไหลออก ทำให้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอยู่แล้ว อ่อนลงไปอีกโดยสถานการณ์ ปัจจุบันเปลี่ยนไปจากการประชุมครั้งที่แล้วมาก ในแง่อัตราแลกเปลี่ยนซึ่งการประชุมครั้งก่อน (27พ.ย.2556) เงินบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ตอนนี้เงินบาทอ่อนลงมาแถว 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ถ้ามีปัจจัยข่าวเรื่องสหรัฐจะลดเงินอุดหนุนเข้าระบบ หรือ คิวอี (มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ) ลดมากเท่าไรเงินจะไหลออกมากเท่านั้น และยิ่งลดดอกเบี้ยเงินบาทก็อ่อนค่าลงเร็วยิ่งขึ้นและค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก อีกทั้งจะเพิ่มต้นทุนให้กับผู้นำเข้า โดยเฉพาะน้ำมัน ปุ๋ย และวัตถุดิบบางประเภทต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
Bath.Dollar
ตามปกติการลดอัตราดอกเบี้ยปกติจะช่วยให้ขยายสินเชื่อของธนาคารได้ แต่ตอนนี้ ธนาคาร ยังคงจะต้องเผชิญกับเงื่อนไข และข้อจำกัดบางประการ ได้แก่ ความต้องการสินเชื่อจากภาคธุรกิจที่อาจไม่กระเตื้องขึ้น เพราะความมั่นใจไม่มี แต่ถ้าการเมืองจบด้วยดีจึงจะมีความเชื่อมั่นในการลงทุนเพิ่ม
ฝ่ายที่บอกให้ ลดดอกเบี้ย ก็มีเหตุผลหนักแน่น ด้วยเป็นตัวช่วยสำคัญของธนาคารพาณิชย์ หากลดดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งลดดอกเบี้ยฝากทันที เพราะเท่ากับลดต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ลงส่งผลดีต่อธนาคารแน่นอน แม้ไม่ได้เห็นผลทันที ต้องใช้เวลาตั้งแต่ 3, 6 หรือ 12 เดือน ตามระยะเวลาฝากเงิน กว่าที่อัตราดอกเบี้ยใหม่จะมีผลบังคับ แปลว่า ธนาคารยังคงต้องแบกภาระต้นทุน จากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเดิมอยู่อีกระยะหนึ่ง แต่ดีกว่าแบกภาระตลอดไป
ข้อดีอีกประการหากลดอัตราดอกเบี้ยลง จะช่วยให้การปรับโครงสร้างหนี้บริษัท ห้างร้านต่างๆหาข้อสรุปได้เร็วขึ้น ช่วยสร้างแรงจูงใจ ให้ลูกหนี้พยายามชำระหนี้คืนธนาคารมากขึ้น ปัญหาเช็คเด้งจะลดน้อยลง และลดการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) และบรรเทาปัญหาที่ธนาคารต้องเพิ่มเงินทุนสำรองและฐานะเงินกองทุน ถ้าไม่ลดดอกเบี้ยฝ่ายที่เชียร์ให้ลดก็บอกว่า “เช็ค” คงเด้งมากขึ้นแน่ ถือเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง ฝ่ายนี้ยังเชื่อว่าการกู้เงินเพื่อหมุนเวียนในกิจการจะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ อีกทั้งภาคเอกชนพยายามระดมทุนในประเทศเพื่อไปชำระหนี้ต่างประเทศ หรือหาช่องทางนำเงินไปฝากในสถาบันการเงินต่างประเทศมากขึ้น
18340808
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งก่อน หลายฝ่ายคาดว่า ไม่ได้ดึงให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับลดลงด้วย เพราะขณะนั้นนักลงทุนต่างชาติประเมินว่า รัฐบาลไทยมีเป้าหมายจะระดมทุนในโครงการขนาดใหญ่อีกจำนวนมาก แต่ขณะนี้ไม่มีการลงทุนภาครัฐในเร็วๆนี้ จึงมีผลต่อดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและยาว ภาครัฐก็น่าจะได้รับประโยชน์เช่นกัน โดยเฉพาะต้นทุนการกู้ยืมเงินที่ถูกลง  การหาเงินช่วยชาวนาก็จะง่ายขึ้น นอกเหนือจากการขายข้าวในต็อก
โกลด์แมน แซคส์ ได้ลดการคาดการณ์เงินเฟ้อไทยลงเล็กน้อย คาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 2.7%สิ้นปีนี้ และเงินเฟ้อหลักอยู่ที่ 1.5% และคาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก ก่อนปลายไตรมาส 1 ปีนี้ โดยคาดว่าธปท. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ก่อนสิ้นไตรมาส 1
อีกทั้งบทวิเคราะห์ของ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้ว่าดอกเบี้ยเหลือแค่ 2% ในปีนี้ ซึ่งในการประชุมวันที่ 12 มี.ค. 2557 คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% พิจารณาจากการหดตัวของอุปสงค์ในประเทศ (การบริโภค) ขณะที่ภาระดอกเบี้ยจากหนี้ครัวเรือนทำให้คนไม่จับจ่ายใช้สอย และทำว่าหนี้จะสูงกว่า จีดีพีในไตรมาสที่ 2 ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย
ส่วนสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มผ่อนคลาย อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งความกังวลต่อเงินทุนไหลออกในระยะสั้นมีไม่มากนัก จึงน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้
แต่สิ่งที่ดีที่สุด ที่จะช่วยเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นธรรมชาติคือ การมีรัฐบาลใหม่จะช่วยให้มีการผลักดันการลงทุนใหม่ๆ เข้ามา กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันงบประมาณใช้ได้อย่างจำกัด แถมมีคนขวางช่องทางจ่ายเงินให้กับชาวนา เงินก็ไม่หมุนเวียนในตลาดตามที่ควรจะเป็น ซึ่งหลายฝ่ายเรียกร้องให้หันมาเจรจากันแล้วในขณะนี้
ส. ศิริวาณิช
______________________________________________________________________
ที่มา : http://news.mthai.com/hot-news/314629.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น