เขาปั่นราคาน้ำมันกันอย่างไร : กรณีสัมปทานปิโตรเลียมไทย

    “ถ้าคุณต้องการจะปกครองโลก คุณจำเป็นต้องควบคุมน้ำมันให้ได้ทั้งหมด และทุกหนทุกแห่งด้วย”(“If you want to rule the world, you need to control oil. All the oil. Anywhere.” Michel Collon, Monopoly)

      
       ผมทราบจากคอลัมนิสต์หลายคนมานานแล้วว่า ราคาน้ำมันดิบที่ขายกันอยู่ในตลาดโลกที่ประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนั้น เงินจำนวนประมาณครึ่งจะเข้าสู่กระเป๋าของนักเล่นหุ้นในตลาดวอลล์สตรีท โดยที่ในแต่ละวันชาวโลกบริโภคน้ำมันประมาณ 100 ล้านบาร์เรล แต่ผมก็นึกไม่ออกว่ามันเข้าไปสู่กระเป๋าคนเหล่านั้นได้อย่างไร และทำไมจึงมากมายถึงขนาดนั้น มาวันนี้ ผมเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นจากตัวอย่างการสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทยเรานี่เอง
      
       แต่ก่อนจะไปตรงนั้น มาดูผลกำไรของผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกกันสักนิด ข้อมูลจากภาพข้างล่างนี้คือกำไรในช่วง 3 เดือนแรกในปี 2554 ของ 5 บริษัทปิโตรเลียม (จากบทความของ Erik Curren, http://transitionvoice.com) กำไรดังกล่าวถ้าคิดทั้งปีก็ประมาณสองเท่าของงบประมาณแผ่นดินประเทศไทยทั้งปี

       คราวนี้มาถึงเรื่องของประเทศไทยครับ ซึ่งผมจะขอแบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลัก คือ (1) วิธีการให้สัมปทานปิโตรเลียม (2) การปั่นราคาน้ำมันจากการขายสัมปทานปิโตรเลียมในแหล่งหนึ่งในภาคอีสาน และ (3) ทุนน้ำมันกับผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก
      
       วิธีการให้สัมปทานปิโตรเลียมกับการประกวดนางสาวไทย
      
       ถ้าเปรียบเทียบวิธีการพิจารณาผู้ขอรับสัมปทานปิโตรเลียมกับวิธีการคัดเลือกนางสาวไทยพบว่ามีทั้งสิ่งที่เหมือน และสิ่งที่ต่างกัน
      
       สิ่งที่เหมือนกันได้แก่ ผู้ขอรับสัมปทานปิโตรเลียมต้องเป็นบริษัท ต้องมีทุน เครื่องจักร อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญที่พอจะผลิต สำรวจ และขายปิโตรเลียมได้ แต่ในกรณีที่มีทุนไม่เพียงพอ หรือครบถ้วน ถ้ามีบริษัทอื่นซึ่งรัฐบาลเชื่อถือรับรองที่จะให้ทุน ก็สามารถขอสัมปทานได้เหมือนกัน ฯลฯ (ข้อ 4 กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ.2555) โดยต้องซื้อแบบฟอร์มในราคาชุดละ 1 หมื่นบาท
      
       ในกรณีนางสาวไทย เท่าที่ผมเคยดูทางโทรทัศน์พบว่า ต้องมีสโมสร หรือสมาคมส่งเข้าประกวด จะเดินดุ่ยๆ ไปสมัครคนเดียวโดยไม่มีใครส่งเข้าประกวดไม่ได้ ผมเข้าใจว่าผู้สมัครนางสาวไทยก็ต้องกรอกแบบฟอร์ม และเสียค่าสมัครเหมือนกัน แต่จะกี่บาทนั้นผมไม่ทราบ
      
       การกรอกใบสมัครของผู้ขอสัมปทาน ต้องระบุปริมาณเงิน และปริมาณงานสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแต่ละแปลง ผู้ขอสัมปทานจะเสนอให้ผลประโยชน์พิเศษ เช่น การให้เงินทุนการศึกษา เงินอุดหนุน เงินให้เปล่าในการลงนามในสัมปทาน หรือเงินให้เปล่าในการผลิต นอกเหนือไปจากเงื่อนไขที่ทางราชการได้กำหนดให้เป็นผลประโยชน์พิเศษไว้ในการประกาศยื่นคำขอสัมปทานก็ได้
      
       การตัดสินก็ใช้ความเห็นของคณะกรรมการปิโตรเลียม โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ก้อนใหญ่ที่สุดที่ประเทศจะได้รับ เพราะทุกบริษัทจะต้องจ่ายค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ ผลประโยชน์พิเศษในอัตราที่อยู่ในกฎหมายเท่ากันอยู่แล้ว ดังนั้น การตัดสินจึงขึ้นอยู่กับอำนาจการวินิจฉัยของกรรมการเท่านั้น
      
       การประกวดนางสาวไทย ก็มีลักษณะคล้ายกัน หลังจากการคัดเลือกหน้าตา ทรวดทรงองค์เอว (ตามความเห็นของคณะกรรมการ) แล้ว ตอนสุดท้ายยังมีการตอบคำถาม เพื่อแสดงทัศนะ เช่น รักเด็ก รักสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
      
       แต่สิ่งที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็คือ ผู้ได้รับตำแหน่งนางสาวไทย จะเป็นตำแหน่งเฉพาะตัว ไม่สามารถโอนให้ใครอื่นได้ หรือจะขายต่อให้ใครก็ไม่ได้ และมีอายุแค่ 1 ปี ในขณะที่ผู้ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมนั้นสามารถขายต่อให้ผู้อื่นได้ ในราคาที่มีกำไรนับหลายพันล้านบาท โดยที่อายุสัมปทาน 20 ปี และในกรณีที่ผลิตปิโตรเลียมไม่ทันภายใน 20 ปี ก็ขอต่อระยะเวลาผลิตได้อีก 10 ปี ยังไม่รวมช่วงการสำรวจอีก 9 ปี ทั้งหมดรวมก็ 39 ปี
      
       เกี่ยวกับระบบการเก็บผลประโยชน์ของรัฐจากปิโตรเลียมนี้ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และอื่นๆ ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต คือ นำผลผลิตมาแบ่งกัน ดังนั้น การขึ้นลงของราคาน้ำมันจะไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเจ้าของประเทศกับบริษัท
      
       สหรัฐอเมริกาเองก็ใช้ระบบการให้สัมปทาน โดยคิดค่าภาคหลวง 12.5% แต่ต่อมาโดยการริเริ่มของสมาชิกสภา ได้มีการศึกษาพบว่า “สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศของโลกที่รัฐได้ผลประโยชน์น้อยที่สุด” (Government Accountability Office found that the U.S. government “receives one of the lowest government takes in the world.”) และต่อมาได้มีการขยับจาก 12.5% เป็น 16.75-18.75% แต่ของประเทศไทยเราก็เคยเก็บ 12.5% แต่กลับแก้ไขใหม่อย่างมีเงื่อนไข แล้วผลลัพธ์สุดท้ายรัฐกลับได้รับลดลง
      
       การปั่นราคาน้ำมันจากการขายสัมปทานปิโตรเลียม
      
       ผมใช้เวลาสืบค้นข้อมูลโดยการเริ่มต้นจากข้อมูลรายงานประจำปี 2554 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในที่สุดก็พบเอกสารของบริษัท Pan Orient Energy (บริษัทชาวแคนาดา) เป็นข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ผมตัดบางส่วนของข้อความมาลงไว้ในที่นี้

       สาระสำคัญในแผ่นสไลด์นี้ก็คือ ประวัติการสร้างมูลค่าในแหล่งสัมปทานบนบก L44 และ L33 ในประเทศไทย (ดูแผนที่ข้างล่างประกอบ) โดยซื้อมาเมื่อเดือนตุลาคม 2550 ในราคา 7.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และขายต่อไปในเดือนมิถุนายน 2555 ในราคา 172 ล้านเหรียญสหรัฐ
      
       หลังจากค้นเพิ่มเติมได้ความว่า หลังจากหักต้นทุนดำเนินการ (ประมาณ 8 ล้านเหรียญสหรัฐ) และจ่ายภาษีแล้วบริษัทมีกำไร 162 ล้านเหรียญสหรัฐ (http://finance.yahoo.com/news/pan-orient-energy-corp-sale-150118468.html) คิดเป็นเงินไทยก็เกือบ 5 พันล้านบาท โดยมีอัตรากำไรประมาณ 22 เท่าของเงินลงทุน ภายในเวลา 5 ปี
      
       เงินกำไรจำนวนนี้นอกจากรัฐไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นต้นทุนเพื่อใช้ในการหักภาษีเงินได้ปิโตรเลียมให้แก่ผู้รับซื้อสัมปทานใหม่ได้ด้วย
      
       สิ่งที่ผมกระหายใคร่รู้ก็คือ บริษัท แพน โอเรียนท์ เอ็นเนอยี่ ซื้อมาจากใคร และขายไปให้ใคร ทำไมจึงมีกำไรเยอะขนาดนี้ และมีน้ำมันดิบสำรองเท่าใด ฯลฯ
      
       ผมจึงเริ่มสืบค้นการให้สัมปทานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จึงขอสรุปมาเป็นตาราง ดังนี้

       สำหรับตำแหน่งที่ตั้งของแหล่ง L33/43 และ L44/43 อยู่ใน 3 อำเภอของจังหวัดเพชรบูรณ์ครับ

       ข้อมูลที่ผมได้จากรายงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไม่ตรงกับข้อมูลในเว็บไซต์ของบริษัท แพน โอเรียนท์ เอ็นเนอยี่ กล่าวคือ ข้อมูลแรก บริษัทในเครือของแพน มีสัดส่วนการลงทุน 100% แต่ข้อมูลหลังระบุว่า แปลงที่ขายไปบริษัทมีหุ้นแค่ 60% แต่ก็ไม่ยอมระบุว่าซื้อจากใครและขายให้ใคร
      
       ดังนั้น ในตอนนี้ผมขอสันนิษฐานว่า บริษัท แพน โอเรียนท์ เอ็นเนอยี่ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ซื้อมาจากบริษัทลูกของตนเองในราคา 7.5 ล้านเหรียญ เมื่อเดือนตุลาคม 2550 (โดยผู้ขายลงทุนไปจำนวนหนึ่ง แต่ผมไม่ทราบนอกจากค่าธรรมเนียมการขอสัมปทานหนึ่งหมื่นบาท)
      
       สำหรับตอนที่ขายออกไป ผมค้นได้แล้วว่าขายไปให้กับบริษัท Towngas ซึ่งเป็นบริษัทของชาวฮ่องกง และชาวจีน (http://www.towngas.com) โดยบริษัทนี้ระบุว่าแหล่งนี้มีน้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้ว (1P) จำนวน 10 ล้านบาร์เรล และสำรองที่ค่อนข้างแน่นอน(2P) อีก 30 ล้านบาร์เรล โดยคาดว่ายังสามารถผลิตต่อไปได้อีก 20 ปี นับจากปี 2555
      
       ด้วยปริมาณสำรองจำนวนนี้ และด้วยการซื้อขายเปลี่ยนมือสัมปทานกันในราคานี้เพียงอย่างเดียว ได้ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นถึง 5-6 เหรียญต่อบาร์เรลแล้ว ดังนั้น เรื่องที่ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ถูกปั่นไปเท่าตัวก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะไม่ได้มีขั้นตอนเดียว
      
       ตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2556 (ข้อมูลล่าสุด) แหล่ง L33/43 และ L44/43 ผลิตน้ำมันดิบได้จำนวน 11.3 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่า 24,571 ล้านบาท โดยรัฐได้ค่าภาคหลวง 1,537 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 6.3 หมายเหตุ กฎหมายเดิมเคยได้ 12.5% แต่หลังจากปี 2532 เป็นต้นมาได้มีการแก้กฎหมายเป็นร้อยละ 5-15 ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทที่มีแหล่งเล็กๆ โดยจ่ายแค่ 6.3%)
      
       สิ่งที่คนไทยเราอยากจะทราบก็คือ บริษัทนี้จ่ายภาษีเงินได้ให้รัฐเท่าใด ผมไม่มีข้อมูลครับ แต่การที่บริษัท Towngas ซื้อมาในราคา 172 ล้านเหรียญ (5,160 ล้านบาท) ก็ถือว่าเป็นต้นทุนของบริษัท Towngas ที่สามารถนำไปหักเป็นต้นทุนจากเงินรายได้ของบริษัท แม้แต่ในกรณีหนี้สูญก็สามารถคิดเป็นต้นทุนได้
      
       หรืออาจกล่าวได้ว่า นี่คือต้นทุนเทียมที่มีผลทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น โดยที่เจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมไม่ได้ประโยชน์ใดๆ โดยสรุปก็คือ ยิ่งมีการซื้อ-ขายสัมปทานกันบ่อยครั้งเท่าใด ราคาน้ำมันก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น และปรากฏการณ์ในประเทศไทยเรานี้ เป็นเรื่องปกติของวงการค้าน้ำมันโลก
      
       ทุนน้ำมันกับผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก
      
       การที่ใครคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเกิดมีทุนมากๆ ขึ้นมาแล้วจะมีผลอย่างไร ผมว่าไม่ต้องไปดูตัวอย่างที่ไหนหรอก “ระบอบทักษิณ” นี่แหละชัดเจนที่สุดแล้ว และได้ตอกย้ำโดยการเปิดเผยของ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ว่ามีการ “ซื้อ ส.ว. สั่งสื่อมวลชนให้ช่วยคนของตนชนะการเลือกตั้ง สั่งสภาแก้กฎหมายเพื่อให้ตนขายหุ้นได้ประโยชน์มากขึ้น” เป็นต้น
      
       แต่ถ้าเป็นเรื่องทุนน้ำมันโดยตรงนั้น ตัวอย่างที่ชัดเจน และจำกันได้ง่ายๆ เช่น กรณี ส่งครามอ่าวเปอร์เซีย และการบุกอิรักของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2546 ซึ่งคนของสหรัฐอเมริกาเองได้เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า “เพื่อคุมแหล่งน้ำมัน”
      
       มีนักลงทุนชาวเบลเยียมท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “พ่อค้าน้ำมันนั้นก็เหมือนแมว คือเราไม่สามารถรู้ได้เลยโดยการฟังเสียงร้องของมันว่ามันกำลังจะต่อสู้กัน หรือกำลังจะผสมพันธุ์กัน” พ่อค้าน้ำมันก็เช่นเดียวกัน การส่งเสียงคำราม และการใช้อาวุธเข่นฆ่ากันนั้น บางครั้งก็เป็นการประสานผลประโยชน์ของพ่อค้าน้ำมันเอง
      
       ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกากำลังมีปัญหาว่าผลการเลือกตั้ง และนโยบายของรัฐบาลไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนเลย
      
       นอกจากนี้ ข้อมูลจากกลุ่ม “ยึดวอลล์สตรีท (Occupy Wall Street)” ระบุว่า “ผู้ชนะการเลือกตั้ง 90% ในทุกระดับของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ที่ใช้เงิน หรือรับเงินเป็นจำนวนมาก”
      
       น้ำมันไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะต่อระบอบประชาธิปไตยของคนทั่วโลกเท่านั้น แต่ที่สำคัญยังมีผลต่อระบบสิ่งแวดล้อมของโลกด้วย ปรากฏการณ์ที่อากาศหนาวสุดๆ ในประเทศไทย และทั่วโลกในขณะนี้ก็มีสาเหตุสำคัญที่สุดมาจากการเผาปิโตรเลียม และถ่านหินซึ่งได้กลายเป็นสินค้าผูกขาดของกลุ่มพ่อค้าพลังงานหยิบมือเดียว
      
       ผมแปลกใจมากๆ ว่า ในขณะที่คนบางกลุ่มยึดมั่นต่อการเลือกตั้งอย่างเดียวเป็นสรณะ แต่ไม่ได้สนใจทุนสามานย์ข้ามชาติที่สามารถเคลื่อนไปที่ไหนก็ได้โดยที่ประชาชนในประเทศนั้นๆ ไม่ได้เลือก การเลือกตั้งเป็นเพียง 1 ใน 4 ของวิธีการที่จะนำสังคมไปสู่สิ่งที่ต้องการ อีก 3 วิธีที่เหลือ ที่ทุนสามานย์พยายามปิดบังมาตลอดคือ (2) การมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งของประชาชน (3) การเคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และ (4) การใช้หลักนิติรัฐและนิติธรรม
      
       โดยสรุป ปัจจุบันนี้ทุนสามานย์ที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชนได้มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลทั่วโลกที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งประเทศไทยที่เราเห็นกันอยู่อย่างโทนโท่แล้ว ครับผม! 
  คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
       โดย...ประสาท  มีแต้ม


______________________________________________________________________

ที่มา : http://www.manager.co.th/south/ViewNews.aspx?NewsID=9570000009997
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น